อธิบดีกรมสรรพสามิต เผย เตรียมออกมาตรการคุมเข้มการเสียภาษีเบียร์-น้ำมันสิ้นเดือนนี้

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ยอดการเก็บภาษีเบียร์และน้ำมันในรอบ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 62 ต่ำกว่าเป้าหมายเป็นจำนวนมาก โดยภาษีเบียร์เก็บได้ 3.6 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.4 หมื่นล้านบาท หรือ 27% โดยเป้าการเก็บภาษีทั้งปีอยู่ที่ 2.66 แสนล้านบาท โดยกรมสรรพามิตเตรียมออกมาตรการเพื่อเข้มงวดในการเสียภาษีเบียร์และน้ำมันภายในเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งจะเข้มงวดในการตรวจสอบการเสียภาษีเบียร์ รวมถึงกฏระเบียบเรื่องการส่งออกใหม่ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการนำเบียร์ทีส่งออกกลับมาขายในประเทศอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันการผลิตมีการผลิตเพื่อการส่งออกอยู่ที่ 13% ของการผลิตทั้งหมด โดยกรมสรรพสามิตจะทำการตรวจสอบการผลิตเบียร์ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ผู้ผลิตต้องรายงานให้เห็นภาพรวมการผลิตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจำนวนปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ กากของเสียที่ออกมา รวมถึงน้ำเบียร์ที่ผลิตได้ เพื่อไปเทียบกับเบียร์ที่ผู้ประกอบการนำออกมาขายไว้ตรงกันหรือไม่

“การจัดเก็บภาษีลดลงจากเบียร์กับน้ำมันเป็นหลัก เนื่องจากการปรับขนาดลดปริมาณและดีกรีแอลกอฮอร์ในเบียร์ลง ตามกฏหมายใหม่ รายได้จึงต่ำกว่าเป้า โดยหลังจากนี้จะเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการส่งออกเบียร์ไปประเทศเพื่อนบ้าน และให้มีการเช็คพอยส์ตามแนวชายเเดน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำเบียร์ส่งออกที่ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตทั้งหมด กลับมาขายในประเทศ” นายพชร กล่าว

นายพชร กล่าวอีกว่า ในส่วนของมาตรการกำกับการเสียภาษีน้ำมัน ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน 7 แห่ง และคลังน้ำมันอีก 40 แห่ง ให้มีการตรวจน้ำมันดินที่นำเข้ามาโรงกลั่้น น้ำมันที่ผลิตออกมาได้ รวมถึงการควบคุมการขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งน้ำมันออกไปขายนอกประเทศว่ามีการนำออกไปจริง เพราะได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตเช่นกัน อีกทั้งยังต้องตรวจเข้มน้ำมันเขียว ที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการประมง โดยไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตว่ามีการไปขายและช่วยกับผู้ประกอบการประมงจริง ไม่ได้นำกลับมาขายบนฝั่ง ซึ่งเป็นช่องโหว่ที่กรมสรรพสามิตต้องเร่งเข้าไปแก้ไข

ขณะที่ ผลการเก็บภาษีสรรพสามิตในรอบ 6 เดือน สามารถจัดเก็บได้ 2.89 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่จัดเก็บได้ 2.05 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 7.62% แต่ต่ำกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท หรือ 4.7%โดยในเดือนมี.ค.สามารถจัดเก็บภาษีได้ 5.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ตัดเก็บได้ 4.86 หมื่นล้านบาท หรือ ประมาณ 9% ต่ำกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 1.35%

ทั้งนี้ รายได้ภาษีที่สามารถจัดเก็บได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน เป็นจำนวน 97,044 ล้านบาท อันดับ 2 คือ ภาษีรถยนต์ จัดเก็บได้ 70,811 ล้านบาท อันดับ 3 คือ ภาษีเบียร์ จัดเก็บได้ 36.753 ล้านบาท อันดับที่ 4 ได้แก่ ภาษียาสูบ จัดเก็บไปได้ 34,553 ล้านบาท และอันดับสุดท้าย ภาษีสุรา จัดเก็บได้ 33,988 ล้านบาท โดยมีการตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตในรอบ 6 เดือน ประจำปีงบประมาณ 2562 พบผู้กระทำผิด จำนวน 17,217 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 264 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีสุรามากที่สุด รองลงมาคือคดียาสูบ คดีรถจักรยานยนต์ และคดีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน

Advertisment

นอกจากนี้ ปัจจุบันกรมสรรพสามิตมีรายได้จากการจัดเก็บภาษียาเส้นสูงขึ้นถึง 200% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสามารถเก็บภาษียาเน้นพันธุ์พื้นเมืองได้มากขึ้น เนื่องจากคนหันมาสูบยาเส้นแทนบุหรี่มวนซึ่งปัจจุบันราคาสูงขึ้นมากจากปรับภาษีของกรมฯ เมื่อปีที่แล้ว และคาดว่าจะสูงขึ้นอีก หากกรมฯ เริ่มจัดเก็บภาษีบุหรี่เพิ่มขึ้นเป็น 40% ในวันที่ 1 ต.ค.2562 ดังนั้นขณะนี้จึงอยู่ระหว่างทบทวนภาษียาเส้นเพิ่มใหม่ เนื่องจากรู้สึกเป็นห่วงผู้สุขภาพผู้บริโภคที่หันมาสูบยาเส้นเป็นจำนวนมาก