นักเสี่ยงโชคต้องรู้​ SCB​ EIC เผยเลขเด็ด​ 2​ ตัวออกบ่อย

SCB EIC เปิดเผยว่า จากการเก็บข้อมูลสถิติความถี่ของเลขที่ถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล 582 งวดย้อนหลัง มี รางวัลเลขท้าย2 ตัว ที่ออกบ่อยที่สุด 11 ครั้ง ได้แก่ 65 85 และ 69 มีเลขท้าย 2 ตัวที่ออกน้อยที่สุด คือ 84 ได้ออกน้อยที่สุด 1 ครั้ง โดยในปี 2560 พบว่า มีเพียง 12 % ของครัวเรือนที่ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลและมีรายได้จากการถูกรางวัล
 
ทั้งนี้ SCB EIC พบว่า ครัวเรือนรายได้น้อยใช้จ่ายเงินเพื่อ “เล่นหวย” ในสัดส่วนที่ สูงกว่า ครัวเรือนรายได้สูง จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2560 ครัวเรือนไทยจำนวนกว่า 47% ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยรายจ่ายในส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่า 37% ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา จาก 3,407 บาทต่อปีต่อครัวเรือนในปี 2552 มาเป็น 4,660 บาทต่อปีต่อครัวเรือนในปี 2560 ทั้งนี้แม้ครัวเรือนไทยจะมีรายจ่ายซื้อสลากฯ เพิ่มขึ้นตามรายได้ที่สูงขึ้น แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ (ค่าซื้อสลากฯ หารด้วยรายได้) กลับพบว่า ครัวเรือนรายได้น้อยมีสัดส่วนการซื้อสลากฯ ต่อรายได้สูงกว่าครัวเรือนรายได้สูง โดยจากข้อมูลการสำรวจทั้งหมดพบว่าครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุด 10% แรก (Bottom 10%) มีสัดส่วนการซื้อสลากฯ อยู่ที่ 3.7% ต่อรายได้ ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด 10% แรก (Top 10%) มีสัดส่วนการซื้อสลากฯ อยู่ที่เพียง 0.8% ต่อรายได้
ในทางกลับกัน อัตราการออมของครัวเรือนรายได้น้อยกลับ ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับครัวเรือนรายได้สูง ในปี 2560 อัตราการออม (รายได้หักรายจ่ายทั่วไปและการชำระหนี้ หารด้วยรายได้รวม) ของครัวเรือนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 19% หากเปรียบเทียบจะพบว่า อัตราการออมของครัวเรือนรายได้น้อยต่ำกว่าครัวเรือนรายได้สูงชัดเจน โดยหากนับเฉพาะครัวเรือนที่มีเงินออมมากกว่าหรือเท่ากับศูนย์ ครัวเรือน Bottom 10% จะมีอัตราการออมอยู่ที่ 12% ขณะที่ครัวเรือน Top 10% มีอัตราการออมอยู่ที่ 28%
ทั้งนี้สัดส่วนของครัวเรือนที่มีรายได้จากการถูกรางวัลสลากฯ ใน 1 ปีมีเพียง 12% โดยเฉลี่ยตามข้อมูลการสำรวจ โดยโอกาสในการถูกรางวัลใดรางวัลหนึ่งใน 1 งวดมีโอกาสน้อยมากเพียง 1.4% เท่านั้น อีไอซีมองว่า สำหรับครัวเรือนรายได้น้อยยังสามารถเพิ่มสัดส่วนเงินออมหรือการลงทุนของตนได้ง่ายๆ ด้วยการลดรายจ่ายในการซื้อสลากฯ ลงบ้าง เพื่อนำไปสร้างหลักประกันทางการเงินในอนาคตหรือในยามฉุกเฉิน รวมไปถึงการป้องกันความเสี่ยง เช่น การซื้อประกันชีวิต ซึ่งก็เป็นรายจ่ายอีกประเภทที่มีสัดส่วนอยู่ในระดับต่ำเช่นกันสำหรับครัวเรือนรายได้น้อย