ก.ล.ต.ดึง DSI ร่วมสอบคนทำผิดตลาดหุ้น

รื่นวดี สุวรรณมงคล

ก.ล.ต.ผนึกดีเอสไอ “ยกเครื่อง” ข้อตกลง MOU ทำงานร่วมกันป้องกัน-ปราบปรามคนทำผิดในตลาดทุนเพิ่มระดับเข้มข้น 4 ประเด็น คาด MOU ฉบับแก้ไขใหม่คลอด มิ.ย. 62 เผยไส้ในเปิดทาง DSI เข้าสอบสวนคดีกับ ก.ล.ต.ตั้งแต่ต้น หวังลดกระบวนการที่ซ้ำซ้อน รวบรวมพยานหลักฐานได้เร็วขึ้น ตั้งตัวแทน DSI นั่งที่ปรึกษาพิเศษชุดคณะกรรมการกลาง จ่อใช้ AI วิเคราะห์พฤติกรรมคนทำผิด พร้อมวัด KPI ผลงานดำเนินคดี

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า จากการที่ได้เข้าพบ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เป็นการหารือความร่วมมือระหว่าง ก.ล.ต. และ DSI ถึง 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การ “ปรับปรุง” บันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยการประสานความร่วมมือในการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีพิเศษระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงาน ก.ล.ต.

ที่มีการลงนามกันตั้งแต่ปี 2548 เพื่อให้ MOU ฉบับเดิม มีความสอดคล้องกับข้อกฎหมายและสภาพแวดล้อมในปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนาม MOU ฉบับใหม่ได้ภายในเดือน มิ.ย. 62

2.การร้องขอให้ DSI เข้าร่วมสอบสวนคดีกับ ก.ล.ต.ตั้งแต่ต้น จากเดิม ก.ล.ต.จะต้องรวบรวมสำนวน หาพยานหลักฐาน และส่งเรื่องให้ DSI ดำเนินการต่อไปซึ่งการเข้าร่วมสอบสวนคดีตั้งแต่ต้น จะช่วยลดกระบวนการทำงานซับซ้อน และจะทำให้การดำเนินคดี การรวบรวมพยานหลักฐาน ทำได้รวดเร็วขึ้น 3.ให้ DSI ส่งผู้แทนเข้าร่วมนั่งเป็นที่ปรึกษาพิเศษในชุดคณะกรรมการกลาง และ 4.การขอความร่วมมือให้ DSI ส่งเสริมและสร้างหลักสูตรพัฒนาศักยภาพบุคลากร ก.ล.ต. ในด้านยุทธวิธีการตรวจค้น การรวบรวมพยานหลักฐาน รวมถึงการดูแลตนเองเมื่อต้องลงพื้นที่ ฯลฯ โดยให้เจ้าหน้าที่ DSI มาจัดหลักสูตรอบรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรของ ก.ล.ต.

“MOU ฉบับปี 2548 ที่ได้ลงนามร่วมกันมีระยะเวลานานหลายปีแล้ว ดังนั้น การปรับปรุงเพื่อให้ MOU ระหว่างสองหน่วยงานมีความกระชับ จะช่วยให้ MOU มีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ ก.ล.ต.ยังมีแนวคิดที่จะนำ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ มาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลตรวจสอบพฤติกรรมกระทำความผิด และมาช่วยกลั่นกรองคดีความต่าง ๆ โดยล่าสุดเริ่มทาบทาม data scientist หรือนักวิทยาศาสตร์ดาต้า มาเป็นที่ปรึกษาของ ก.ล.ต. เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมของการกระทำความผิดที่เปลี่ยนแปลงไป” นางสาวรื่นวดีกล่าว

ทั้งนี้ ก.ล.ต.เตรียมจะดำเนินการกำหนดเป้าหมายการทำงานและมีการประเมินผล หรือวัด KPI (key performance indicators) ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อใช้ประกอบการดำเนินงานด้านการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต. ซึ่งแนวทางวัด KPI อาทิ การกำหนดช่วงเวลาหรือกรอบในการดำเนินคดีต่าง ๆ ควรจะต้องดำเนินการสิ้นสุดเมื่อไหร่ และการวัดผลความสำเร็จของคดีความว่า หลังจากส่งคดีความให้ DSI ดำเนินการต่อ ผลออกมาเป็นอย่างไร และประสบความสำเร็จเท่าไหร่ เป็นต้น โดยเชื่อว่าจะส่งผลให้การดำเนินคดีความต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้มีการส่งคดีความให้ DSI ดำเนินการรวมกว่า 100 คดี โดยล่าสุดมีคดีความที่อยู่ระหว่างดำเนินการของ DSI ประมาณ 10 คดี