เปิดร่าง กม.ซุปเปอร์บอร์ด ตั้ง ‘คนร.’ คุม ’11รัฐวิสาหกิจ’

หมายเหตุ – ส่วนหนึ่งของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ… ที่มีจำนวน 90 มาตรา ที่ผ่านความเห็นชอบในขั้นรับหลักการของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน มีสาระสำคัญ เช่น ให้มีคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่กำหนดเป้าหมาย นโยบายและทิศทางในการพัฒนา 11 รัฐวิสาหกิจ ในภาพรวมทั้งระบบให้เป็นไปตามโดยสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ…”

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดมาจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้

“รัฐวิสาหกิจ” หมายความว่า รัฐวิสาหกิจในกำกับของกระทรวงเจ้าสังกัดและรัฐวิสาหกิจในกำกับของบรรษัท

“รัฐวิสาหกิจในกำกับของกระทรวงเจ้าสังกัด” หมายความว่า

(1) องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลกิจการของรัฐ ตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้น หรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ

(2) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่กระทรวงการคลังมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ

“รัฐวิสาหกิจในกำกับของบรรษัท” หมายความว่า บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่บรรษัทมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ

“บรรษัท” หมายความว่า บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ

“คณะกรรมการบรรษัท” หมายความว่า คณะกรรมการบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ

“ประธานกรรมการบรรษัท” หมายความว่า ประธานกรรมการบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ

“กรรมการผู้อำนวยการใหญ่” หมายความว่า กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ

“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

หมวด 1 นโยบายและการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ

มาตรา 5 พระราชบัญญัตินี้มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้

(1) ให้มีคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจทำหน้าที่กำหนดเป้าหมาย นโยบายและทิศทางในการพัฒนารัฐวิสาหกิจในภาพรวมทั้งระบบให้เป็นไปโดยสอดคล้อง กับแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ

(2) ส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจดำเนินกิจการอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมีการประเมินผลการดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่อง

(3) ให้มีกลไกสนับสนุนให้การคัดเลือกและการปฏิบัติงานของกรรมการรัฐวิสาหกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

(4) ให้มีบรรษัทเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการบริหารรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจดังกล่าว

ส่วนที่ 1 คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

มาตรา 6 ให้มีคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เรียกโดยย่อว่า “คนร.” ประกอบด้วย

(1) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ

(2) รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายคนหนึ่ง เป็นรองประธานกรรมการ

(3) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีอื่นซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนสองคน ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และประธานกรรมการบรรษัท

(4) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนห้าคน

ให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ และข้าราชการในสำนักงาน ซึ่งผู้อำนวยการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขานุการจำนวนไม่เกินสองคน

มาตรา 11 ให้ คนร.มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) จัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

(2) เสนอแนะและให้คำปรึกษาต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางการกำกับดูแล และบริหารรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนบรรษัท และเสนอความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ

(3) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายการกำกับดูแลให้หน่วยงานของรัฐหรือผู้ ที่เกี่ยวข้องดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ

(4) กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังหรือบรรษัทในรัฐวิสาหกิจที่เป็น บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

(5) กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสร้างแรงจูงใจแก่รัฐวิสาหกิจในกำกับของกระทรวงเจ้าสังกัด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

(6) ให้ความเห็นชอบการโอนหุ้นของรัฐวิสาหกิจในกำกับของกระทรวงเจ้าสังกัดที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดให้แก่บรรษัท

(7) ให้ความเห็นชอบกรอบวงเงินลงทุนประจำปีของรัฐวิสาหกิจในกำกับของบรรษัทและ กำหนดหลักเกณฑ์การอนุมัติโครงการลงทุน งบลงทุนประจำปี และการรายงานการเบิกจ่ายงบลงทุนประจำปีของรัฐวิสาหกิจในกำกับของบรรษัท

(8) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีในการควบคุมหรือยุบเลิกรัฐวิสาหกิจและการ เปลี่ยนแปลงสัดส่วนในหุ้นที่บรรษัทถือครองจนพ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจหรือ ทำให้เป็นรัฐวิสาหกิจ

(9) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดมาตรการและจัดสรรเงินชดเชยหรือเงิน อุดหนุนให้แก่รัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้แผน ยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจตามมาตรา 28

(10) กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจและบรรษัทตามมาตรา 29

(11) กำหนดแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจในกำกับของกระทรวงเจ้า สังกัดตามมาตรา 34 และกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการที่ดีในบรรษัทตามมาตรา 48

(12) แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 35 และคณะกรรมการบรรษัทตามมาตรา 52

(13) กำกับดูแลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจและบรรษัท และจัดทำรายงานตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้

(14) มอบหมายให้บรรษัทให้คำปรึกษาแก่กระทรวงเจ้าสังกัดในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจในกำกับของกระทรวงเจ้าสังกัด

(15) เสนอแนะให้มีการตราหรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจต่อคณะรัฐมนตรี

(16) ออกประกาศเพื่อกำหนดแนวทางหรือหลักเกณฑ์ ตลอดจนวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

(17) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ คนร.หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

มาตรา 13 คนร.มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ คนร.มอบหมาย

การประชุมคณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่ง ต้องมีอนุกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนอนุกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

ใน การประชุมคณะอนุกรรมการ ถ้าประธานอนุกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้อนุกรรมการที่มาประชุมเลือกอนุกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

การ วินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก อนุกรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่ง เป็นเสียงชี้ขาด

ส่วนที่ 2 แผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ

มาตรา 22 ให้มีแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจซึ่งมีระยะเวลาครั้งละห้าปี เพื่อกำหนดเป้าหมาย นโยบาย และทิศทางในการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ โดยอย่างน้อยให้คำนึงถึงหลักวินัยการเงินการคลังของประเทศภารกิจของ รัฐวิสาหกิจในบริษัทที่เปลี่ยนแปลง และบทบาทหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจที่มีต่อการพัฒนาประเทศ

มาตรา 23 ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจตามมาตรา 22 ให้ คนร.กำหนดแนวทางให้กระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจและบรรษัทเสนอกรอบนโยบาย การพัฒนาและทิศทางการลงทุนของรัฐวิสาหกิจในกำกับ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่ คนร.กำหนด

หมวด 2 บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ

ส่วนที่ 1 การจัดตั้งบรรษัท

มาตรา 44 ให้จัดตั้ง “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” ขึ้นเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจในกำกับของบรรษัทและกำกับดูแลการ ประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจในฐานะผู้ถือหุ้น ให้เกิดผลตอบแทนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจรวมทั้ง ลงทุนและบริหารทรัพย์สินของบรรษัท

มาตรา 45 ให้บรรษัทเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น

มาตรา 46 ให้บรรษัทมีอำนาจกระทำกิจการภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 44 อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง

(1) ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและหลักทรัพย์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพย์สิทธิต่างๆ

(2) ก่อตั้งสิทธิหรือกระทำนิติกรรมใดๆ ทั้งในและนอกราชอาณาจักร

(3) ค้ำประกันหรือรับรอง รับอาวัล หรือสอดเข้าแก้หน้าในตั๋วเงิน

(4) กู้หรือยืมเงินในหรือนอกราชอาณาจักรเพื่อกิจการของบรรษัท

การดำเนินการตาม (3) และ (4) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ คนร.กำหนด

มาตรา 47 ให้บรรษัทมีทุนหนึ่งพันล้านบาท แบ่งเป็นหนึ่งร้อยล้านหุ้นมีมูลค่าหุ้นละสิบบาท

บรรษัท อาจเพิ่มทุนหรือลดทุนได้โดยเสนอกระทรวงการคลังเพื่อเสนอต่อ คนร.ให้ความเห็นชอบ และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของ บรรษัท หุ้นทุกหุ้นของบรรษัทต้องใช้เงินครั้งเดียวเต็มมูลค่าและโอนเปลี่ยนมือมิได้

ส่วนที่ 2 การโอนหุ้นของรัฐวิสาหกิจให้แก่บรรษัท

มาตรา 49 ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ คนร.พิจารณาสั่งการให้กระทรวงการคลังโอนหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่ใน รัฐวิสาหกิจตามบัญชีรายชื่อท้ายพระราชบัญญัตินี้ให้แก่บรรษัท

การโอน หุ้นของรัฐวิสาหกิจที่เป็นบรรษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่กระทรวงการ คลังมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ ให้แก่บรรษัทนอกจากที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้โดยความเห็นชอบของ คนร.

มาตรา 50 ในการรับโอนหุ้นของรัฐวิสาหกิจจากกระทรวงการคลังตามมาตรา 49 ให้บรรษัทออกหุ้นของบรรษัทในราคาตามมูลค่าหุ้นให้แก่กระทรวงการคลังเท่ากับ มูลค่าหุ้นทั้งหมดของรัฐวิสาหกิจที่รับโอนมา

การคำนวณมูลค่าหุ้นตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) สำหรับรัฐวิสาหกิจที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้ใช้ ราคาเฉลี่ยประจำวันของหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เฉลี่ยย้อนหลังหกสิบ วันทำการก่อนวันที่จะทำการโอน

(2) สำหรับรัฐวิสาหกิจนอกจาก (1) ให้ใช้ราคาตามมูลค่าทางบัญชีตามงบการเงินประจำงวดปีบัญชีที่สิ้นสุดก่อนวัน ที่จะทำการโอนที่ผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบแล้ว มูลค่าหุ้นทั้งหมดของรัฐวิสาหกิจที่คำนวณได้ตามมาตรานี้ ถ้ามีเศษของสิบบาทให้ปัดทิ้ง

มาตรา 51 ให้รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังได้โอนหุ้นให้แก่บรรษัทตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และให้นำกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับพนักงานรัฐวิสาหกิจมาใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจนั้น ตราบเท่าที่บรรษัทยังคงถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นทั้งหมดใน รัฐวิสาหกิจนั้น

บัญชีรายชื่อรัฐวิสาหกิจ

1.บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท ขนส่ง จำกัด 4.บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) 5.บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) 6.บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด 7.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 8.บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด 9.บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด 10.บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) 11.บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด

บทเฉพาะกาล

มาตรา 83 ในวาระเริ่มแรก ให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2557 ปฏิบัติหน้าที่เป็น คนร.ตามพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมี คนร.ตามพระราชบัญญัตินี้

ให้ คนร.ตามวรรคหนึ่ง แต่งตั้งกรรมการ คนร.จำนวนสี่คน ปฏิบัติหน้าที่กรรมการบรรษัท โดยให้ปฏิบัติหน้าที่เท่าที่จำเป็นไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบรรษัทชุดแรก

มาตรา 89 เมื่อกระทรวงการคลังได้โอนหุ้นในรัฐวิสาหกิจให้แก่บรรษัทแล้ว ให้มติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังในรัฐวิสาหกิจ ที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดใดใช้บังคับกับบรรษัทในการถือหุ้นใน รัฐวิสาหกิจนั้นด้วย จนกว่าจะมีมติเป็นอย่างอื่น

 


ที่มา มติชนออนไลน์