กรุงไทยหั่นเป้าจีดีพีปีนี้โต 3.3% ส่งออกโต 0.8% เหตุสงครามการค้าฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน

ธนาคารกรุงไทย หั่นเป้าจีดีพีปีนี้โต 3.3% ส่งออกโต 0.8% ยอมรับมองภาพรวมเศรษฐกิจคลาดเคลื่อน เหตุสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ฉุดความเชื่อมั่นทำนักลงทุนชะลอการลงทุนทั่วโลกโดยเฉพาะระบบเทคโนโลยี แนะเอสเอ็มอีปรับตัวทำการวิจัยและพัฒนาสินค้า เพิ่มทางรอดให้ธุรกิจ

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารปรับลดเป้าประมาณการเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ลงอยู่ที่ 3.3% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.8% จากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่รุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลกระทบความชื่อมั่นการลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และภาพรวมการส่งออกและการลงทุนของภาคเอกชนไทย โดยคาดว่าการส่งออกปีนี้จะขยายตัวอยู่ที่ 0.8% จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 4%

“ปีนี้เป็นอีกปีที่ทุกคนเเทบจะมองภาพเศรษฐกิจผิด เพราะตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ได้มีการคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 4% แต่ยังไม่ได้ให้น้ำหนักเรื่องสงครามการค้ามากพอ และสงครามการค้าที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐแย่ แต่เศรษฐกิจสหรัฐยังดีมาก โดยสิ่งที่นักวิเคราะห์มองผิดไปมากก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนเเผ่ว และทั่วโลกชะลอการลงทุน รวมถึงการลงทุนระบบเทคโนโลยีก็หยุดชะงักลง ซึ่งไทยก็เห็นและอาเซียนก็ได้รับผลกระทบ และเป็นภาคต่อเนื่องกันมาเมื่อการลงทุนโดยภาพรวมชะลอ การค้าระหว่างประเทศชะลอ การเติบโตของจีดีพีต่างๆ ก็ปรับลดลงตามลำดับ โดยในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีจะต้องระมัดระวังเรื่องการบริหารสภาพคล่องให้ดี มีเงินสำรองเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ” นายพชรพจน์กล่าว

ขณะที่ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี มองว่า ในปีนี้สินเชื่อเอสเอ็มอีจะเติบโตไม่มากนัก สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ทำให้สถาบันการเงินมีการพิจารณาความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น ส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ตามรายงานของธนาคารเเห่งประเทศไทยพบว่า ยังไม่ได้ปรับตัวลดลง โดยพบว่า NPL สินเชื่อเอสเอ็มอีไตรมาส 1 อยู่ที่ 4.60% เพิมขึ้นจากช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 4.46%

นอกจากนี้ นายพชรพจน์ได้กล่าวถึงเรื่อง SMEs ทำวิจัยและพัฒนาอย่างไร แบบไม่เดียวดาย” ว่าการทำวิจัยและพัฒนาหรือ R&D จะช่วยให้เกิดนวัตกรรมทางสินค้า ลดต้นทุนการผลิต นำไปสู่การเพิ่มรายได้ และ โอกาสรอดของธุรกิจ แต่จากการทำบทวิจัยพบว่า ผู้ประกอบการ SME จำนวน 3 ล้านราย มีเพียง 5 พันราย ที่ทำ R&D หรือคิดเป็น 0.2% โดยปัญหาเกิดจาก 3 อุปสรรค คือ ขาดบุคลากรและเครื่องมือ เข้าไม่ถึงข้อมูลเทคโนโลยีใหม่ๆ และต้นทุนการทำ R&D ที่สูงเกินไป อย่างไรก็ตาม มีผู้ประกอบการหลายรายพบทางออก และประสบความสำเร็จผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ

“งานวิจัยในต่างประเทศพบว่า แม้บริษัทจะลงทุนด้าน R&D ไม่มาก แต่หากสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ตรงจุดและรวดเร็วจะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ถึง 6-23% ดังนั้นจึงอยากแนะนำว่า การทำ R&D ควรเริ่มหาไอเดียจาก Pain Point หรือปัญหากวนใจในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจ และคิดผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ ประกอบกับการทำ R&D จะทำให้ผลิตภัณฑ์โดดเด่น และ ลอกเลียนแบบได้ยากขึ้น โดยที่ผ่านมาบ่อยครั้งมี SME ทำ R&D แล้วประสบความสำเร็จมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่”

ด้านนายกิตติพงษ์ เรือนทิพย์ รองผู้อำนวยการ ผู้ร่วมทำบทวิจัย กล่าวว่า อุปสรรคด้านต้นทุนที่สูงเกินไป ทำให้มีหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงินที่พร้อมสนับสนุนเงินทุนให้เปล่า และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เช่น โครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของ สวทช. วงเงินกู้สูงสุด 30 ล้านบาท โครงการนวัตกรรมดี ไม่มีดอกเบี้ย โครงการ Startup&Innobiz วงเงินกู้สูงสุด 40 ล้านบาท ซึ่งมีผู้ประกอบการประสบความสำเร็จสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศได้