คปภ.ขยายเกณฑ์ “แซนด์บ็อกซ์” หนุนประกันดึงสตาร์ตอัพทดสอบไอเดีย

ชญานิน เกิดผลงาม

คปภ.แก้เกณฑ์เปิดทาง “สตาร์ตอัพ” ปล่อยไอเดีย “อินชัวร์เทค” ผ่านแซนด์บอกซ์ เดินหน้าปรับปรุงประกาศโครงการทดสอบนวัตกรรมรับลูก พร้อมหารือศูนย์ CIT เฟ้นสตาร์ตอัพอินชัวร์เทค-ฟินเทค หวัง “นวัตกรรมบล็อกเชน” แชร์ข้อมูล หนุนอินฟราสตรักเจอร์ธุรกิจประกันภัย คาดใช้ภายในปีนี้

นางสาวชญานิน เกิดผลงาม ผู้ช่วยเลขาธิการสายพัฒนามาตรฐานการกำกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ คปภ.กำลังอยู่ระหว่างปรับปรุงประกาศโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการธุรกิจประกันภัย (insurance regulatory sandbox) โดยจะยืดหยุ่นกฎระเบียบให้แก่กลุ่มสตาร์ตอัพเพื่อเพิ่มจำนวนผู้เล่นให้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เข้ามาบ่มเพาะที่ศูนย์ Center of InsurTech Thailand (CIT) ซึ่ง คปภ.จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้บรรดาสตาร์ตอัพสามารถเข้ามาทดสอบนวัตกรรมต่าง ๆ จากเดิมผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นผู้ที่มีใบอนุญาต (li-cense) ประกอบธุรกิจประกันภัย หรือผู้ประกอบธุรกิจที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีที่ สนใจจะเสนอนวัตกรรมโดยดำเนินการร่วมกับบริษัทประกันภัย หรือนายหน้าประกันภัยนิติบุคคล

“ร่างประกาศฉบับแก้ไขใหม่ ได้ทำประชาพิจารณ์ (เฮียริ่ง) กับภาคธุรกิจแล้ว แต่ขณะนี้จะต้องกลับมาศึกษาให้มั่นใจก่อนว่า กรอบที่เหมาะสมควรจะอยู่แค่ไหน ซึ่งน่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เราจะเปิดกว้างเพื่อจูงใจให้สตาร์ตอัพที่มีไอเดีย โดยเฉพาะที่เข้ามา incubated ที่ศูนย์ CIT ได้มีโอกาสเข้ามาทดสอบนวัตกรรมใหม่ ๆ ผ่าน sandbox ของ คปภ. ซึ่งขณะนี้กำลังหารือร่วมกับศูนย์ CIT เพื่อคัดเลือกสตาร์ตอัพเข้ามาทดสอบ โดยเบื้องต้นอาจจะอยู่ในขอบเขตการประกันภัยก่อน เพราะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเรา นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้บริษัทประกันมี sandbox ของตัวเองด้วย หรือเรียกว่า own sandbox” นางสาวชญานินกล่าว

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ คปภ.เล็งเห็นและต้องการจะส่งเสริมคือ การนำนวัตกรรมเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรักเจอร์) มาพัฒนาธุรกิจประกันภัย อาทิ การจะแชร์ข้อมูลบางเรื่องใช้ระบบบล็อกเชน (block chain) เข้ามาช่วย แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีใครแสดงความจำนงที่จะยื่นเข้ามาทดสอบ แต่ขณะนี้ คปภ.กำลังเจรจากับภาคธุรกิจและบรรดาสตาร์ตอัพอินชัวร์เทคและฟินเทค เพื่อส่งเสริมและผลักดันธุรกิจประกันภัยร่วมกัน

ทั้งนี้ ปัจจุบันมี 1 โครงการที่ทดสอบผ่าน sandbox ของ คปภ.แล้ว ซึ่งจะเป็นแอปพลิเคชั่นบนมือถือ จัดทำขึ้นระหว่างบริษัทประกันวินาศภัยร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีเกี่ยวกับการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมการขับขี่ของลูกค้า การประมวลผลการขับขี่เพื่อให้คะแนนการขับขี่ พร้อมให้คำแนะนำในการปรับปรุงการขับขี่ที่ดีขึ้นในทุก ๆ ครั้ง และบริษัทจะใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อพิจารณาปรับปรุงอัตราเบี้ยประกันภัยให้มีความเหมาะสมในแต่ละผู้ขับขี่ในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมี 6 โครงการที่อยู่ระหว่างการทดสอบ ได้แก่ โครงการเกี่ยวกับการคำนวณเบี้ยประกันภัยสุขภาพรูปแบบใหม่ 1 โครงการ, โครงการเกี่ยวกับการคำนวณเบี้ยประกันภัยรถยนต์รูปแบบใหม่ 4 โครงการ และโครงการเกี่ยวกับการอบรมต่ออายุใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันภัยรูปแบบใหม่ 1 โครงการ

นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายใต้โลกยุคใหม่ที่ทุกอย่างมีความ dynamic มาก และ new generation เกิดขึ้น บริษัทประกันจะต้องทำอย่างไรที่จะตอบโจทย์ลูกค้าหรือช่องโหว่ต่าง ๆ ดังนั้น การมี insurance regulatory sandbox ก็เพื่อให้บริษัทประกันหรือแม้ไม่ใช่บริษัทประกันได้ทดลองสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นับเป็นเรื่องที่เป็นมิติหนึ่งที่จะเปิดให้โลกประกันภัยกว้างขึ้น แต่ต้องไม่ลืมว่าความเชื่อใจและสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้จริง เพราะประกันชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องมีความรับผิดชอบกับลูกค้าในระยะยาว

“ในความเป็นจริงสิ่งใหม่ ๆ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นเรื่องของเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่เป็นเรื่อง initiative (ความคิดริเริ่ม) ที่อาจจะเกี่ยวกับนวัตกรรมในส่วนผลิตภัณฑ์หรือบริการ เช่น ผลิตภัณฑ์ “เบาหวานแบทเทอร์แคร์” ของบริษัทที่ทดสอบผ่าน sandbox คปภ. และได้นำออกมาขายแล้ว โดยตัวโปรดักต์ถือว่าดีมีอัตราการต่ออายุ เนื่องจากทดสอบแล้วพบว่าผู้ป่วยเบาหวานที่ลดค่าน้ำตาลสะสมลงมาได้ เมื่อต่ออายุจะได้ส่วนลดเบี้ยประกันตามเงื่อนไขจริง แต่จำนวนลูกค้าอาจจะยังน้อยไม่ถึง 500 ราย เนื่องจากกระบวนการที่เป็นแบบไม่มีคน (ขายผ่านออนไลน์) เลยพบว่าเป็นไปได้ยาก บริษัทจึงได้กลับไปขอ คปภ.ใหม่ให้ปรับปรุงกระบวนการขายโดยให้มีคนบริการ ขณะนี้ได้เริ่มขายผ่านตัวแทนประกันชีวิตแล้ว” นายสาระกล่าว