ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดจีดีพีปีนี้เหลือ 3.1% ส่งออกเหลือ 0% เหตุสงครามการค้ากดดันภาคส่งออก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดจีดีพีปีนี้เหลือ 3.1% ส่งออกเหลือ 0% เหตุสงครามการค้ากดดันภาคส่งออก หวังครึ่งปีหลังรัฐบาลใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย ลดประมาณการจีดีพีในปีนี้เหลือ 3.1 % จากเดิม 3.7 % เหตุส่งออกไม่ขยายตัว หลังถูกกระทบจากปัญหาสงครามการค้ายืดเยื้อ คาดครึ่งปีหลังเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนของรัฐบาล

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ(จีดีพี)ปี 2562 ลงเหลือขยายตัวได้3.1 % จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.7% และปรับลดประมาณการส่งออกเหลือ 0% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.2% โดยเป็นผลมาจากภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งปีแรกที่ชะลอตัวลงจากผลกระทบสงครามการค้าที่เกิดขึ้น ซึ่งจะต้องติดตามผลการประชุมG20 และการหาทางออกของเกมการเมืองระหว่างสหรัฐและจีน

ขณะเดียวกันคาดว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ที่คาดว่าจะผลักดันนโยบายที่สอดคล้องกับที่พรรคร่วมรัฐบาลเคยหาเสียงไว้ช่วงก่อนการเลือกตั้ง อาทิ นโยบายประชารัฐ การประกันรายได้พืชผลเกษตร รวมถึงนโยบายเร่งด่วนเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นที่จะชดเชยผลกระทบจากความล่าช้าของงบประมาณประจำปี 2563 ได้ โดยงบประมาณที่คาดว่ารัฐบาลใหม่จะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิตอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท

ด้านอัตราดอกเบี้ยนั้น คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยประมาณ 1 ถึง 2 ครั้งในปีนี้ หลังสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มอ่อนแรงลง ขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ไปจนถึงสิ้นปี โดยให้น้ำหนักกับประเด็นชิงเสถียรภาพควบคู่กับการติดตามปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยที่ยังมีอยู่มาก

นางสาวณัฐพร กล่าวอีกว่า ในส่วนของอัตราเเลกเปลี่ยนคาดว่าในช่วงสิ้นปีจะอยู่ที่ระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์ จากเดิมที่ค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 30.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และในปีนี้ค่าเงินบาทมีโอกาสที่จะแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 30.50 บาทต่อดอลลาร์ในปีนี้

ขณะที่สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ เชื่อว่าตัวเลขการเติบโตทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 4.5 %ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 5 %ซึ่งเป็นผลมาจากสินเชื่อภาคธุรกิจที่เติบโตช้าตามบรรยากาศเศรษฐกิจ รวมถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปีที่ได้รับผลกระทบจากการเร่งซื้อล่วงหน้าไปแล้วก่อนที่มาตรการ LTV มีผลบังคับใช้เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) แม้จะมีโอกาสปรับขึ้นในช่วงระหว่างปี โดยเฉพาะจากหนี้ที่เคยปรับโครงสร้างไปแล้ว แต่ทั้งปีจะรักษาระดับไว้ที่ ร้อยละ 2.98 ถึงร้อยละ 3 ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.97 ถึงร้อยละ 2.98