เอ็นพีแอล SMEs พุ่งต่อ แบงก์ปรับกลยุทธ์แก้ก่อนตกชั้น

คลังประเมิน NPL เอสเอ็มอีไตรมาส 2 ไหลต่อ เตรียมงัดมาตรการดูแล “TMB Analytics” ชี้จากต้นปีถึงกลางปี NPL เอสเอ็มอีพุ่งขึ้น 6% เชื่อถึงสิ้นปีแตะ 2.57 แสนล้านบาท ฟาก “SCB-กสิกรฯ” ปรับกลยุทธ์จับสัญญาณกลุ่มเสี่ยงลุยแก้ก่อนตกชั้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงที่มีนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เป็นประธาน เมื่อ 22 ก.ค. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้รายงานสถานการณ์หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งระบบ คาดว่าจะเพิ่มไปอยู่ที่กว่า 4.44% ในสิ้นไตรมาส 2 จากไตรมาสแรกอยู่ที่ 4.26% ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีลดลงด้วย โดยรัฐบาลอยู่ระหว่างเตรียมมาตรการเข้าไปดูแล

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics กล่าวว่า แนวโน้ม NPL เอสเอ็มอีในไตรมาส 2 จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 2.47 แสนล้านบาท จากไตรมาสแรกอยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากต้นปีราว 6% โดยถึงสิ้นปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปแตะ 2.57 แสนล้านบาท ซึ่งกลุ่มที่ยังน่ากังวล คือ ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก เนื่องจากถูกดิสรัปต์จากหลายปัจจัย และกลุ่มนี้เป็น NPL อยู่ราวครึ่งหนึ่งของ NPL เอสเอ็มอีทั้งหมด

“ที่ผ่านมา เราเห็น NPL เอสเอ็มอี โตเร็วกว่าสินเชื่อ ซึ่งปีนี้ก็คงเห็นอัตราการเติบโตเพิ่มอยู่ จาก 4.6% ก็คงเพิ่มเป็น 4.7%” นายนริศกล่าว

นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ครึ่งแรกปีนี้ ธนาคารมียอดสินเชื่อเอสเอ็มอีคงค้างที่ราว 3.4 แสนล้านบาท ทรงตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยตั้งเป้าสินเชื่อเอสเอ็มอีปีนี้เติบโตที่ 8% ซึ่งครึ่งปีแรกปล่อยสินเชื่อใหม่แล้ว 4 หมื่นล้านบาท ทั้งปีสินเชื่อเอสเอ็มอีปล่อยใหม่น่าจะอยู่ที่ 1-1.2 แสนล้านบาท ส่วน NPL เอสเอ็มอีอยู่ที่ 7.8% หรือ 2.69 หมื่นล้านบาท และถึงสิ้นปีจะดูแลให้ต่ำกว่า 8%

“ธนาคารได้ปรับกลยุทธ์เพื่อควบคุม NPL ด้วยการเน้นเข้าไปดูแลสินเชื่อที่อาจมีความเสี่ยงหรือมีสัญญาณจะกลายเป็นหนี้เสียในอนาคต เช่น กลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่กระจายแหล่งรายได้ หรือมีรายได้ที่อิงกับยอดขายจากลูกค้ากลุ่มเดียว เช่น ส่งออกอิงกับประเทศจีนอย่างเดียว หากจีนลดคำสั่งซื้อก็จะมีปัญหา รวมถึงผู้ประกอบการโรงแรมที่อิงกับนักท่องเที่ยวประเภทเดียว และกลุ่มที่นำสินเชื่อไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ส่วนที่เป็น NPL แล้วจะใช้วิธีการแยกสี ตั้งแต่สีขาว (ระดับปกติ) สีขาวขุ่น สีเหลือง สีส้ม สีแดง และสีดำ เพื่อจำแนกอาการแล้วเข้าไปแก้ไข จากเดิมใช้วิธีดำเนินการตามกฎหมาย” นางพิกุลกล่าว

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันหนี้เสียสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารมีระดับทรงตัว ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการส่งออกที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีการจัดการ ผ่านวิธีการลดดอกเบี้ย และการขยายระยะเวลาการชำระคืนตามลำดับ รวมถึงมีทีมงานหน้าบ้านที่คอยดูแลลูกค้า และทีมงานดาต้า (data) ที่ส่งข้อมูลให้ ดังนั้น จึงสามารถประเมินและเข้าไปพูดคุยกับลูกค้าเมื่อเห็นสัญญาณความเสี่ยงจะเป็นหนี้เสีย เพื่อป้องกันก่อนกลายเป็นหนี้เสียได้ เช่น กระแสเงินสดของลูกค้าเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ หรือมีการชำระเงินคืนล่าช้ากว่าปกติหรือไม่ เป็นต้น

“ส่วนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เรามองว่าเอสเอ็มอีส่วนใหญ่เป็นธุรกิจซื้อมาขายไป (trading) ดังนั้น อาจกระทบบ้าง แต่ไม่มากเท่ากับกลุ่มที่ต้องใช้แรงงานหนัก เช่น กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรายใหญ่แล้ว อีกทั้งยังมีการทดแทนแรงงานคนด้วยเครื่องจักรด้วย” นายสุรัตน์กล่าว