ธุรกิจเบรกลงทุนถือเงินสด Q2 บจ.กำไรหด-จีดีพีหลุดเป้า 2.5%

ธุรกิจหืดขึ้นคอสัญญาณเศรษฐกิจ “ขาลง” เอฟเฟ็กต์ “สงครามการค้า-เงินบาทแข็ง” กระทบเป็นลูกโซ่ไปทุกภาคอุตสาหกรรมไม่ใช่แค่ส่งออก ภาคธุรกิจเร่งปรับแผนรับมือกำลังซื้อในประเทศทรุด ถือเงินสด-รีวิวแผนลงทุน “เซ็นกรุ๊ป” ยักษ์ร้านอาหารญี่ปุ่นและไทย ปรับกลยุทธ์ลงทุนสาขาไซซ์เล็ก เน้นคืนทุนเร็ว ขณะที่ภาพรวมกำไร บจ.ไตรมาส 2 ร่วงหนัก ฟากรัฐบาลตั้ง “คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง” ประคองเศรษฐกิจ สั่งบีโอไอออกมาตรการพิเศษจูงใจนักลงทุน

เศรษฐกิจไร้ปัจจัยบวก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ครั้งแรกลงในรอบ 4 ปี มาอยู่ที่ 1.50% ต่อปี เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และต่ำกว่าระดับศักยภาพ เรียกว่าทุกดัชนีเศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง ทั้งการส่งออกหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ จากปัญหาสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรง และขยายวงกว้างมากขึ้น รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงรวมทั้งการบริโภคภาคเอกชนก็ชะลอลงตามรายได้ของครัวเรือน

นอกภาคเกษตรและการจ้างงานที่ปรับลดลง โดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อส่งออก ด้านการลงทุนภาคเอกชนก็อยู่ในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐก็ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเบิกจ่าย และในครึ่งปีหลังยังมีความเสี่ยงจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ล่าช้าอีก

ครึ่งปีหลังส่งออกอาการหนัก

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า การคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในไตรมาส 2/2562 จะขยายตัวต่ำกว่าทุกไตรมาสที่ผ่านมา ถ้าขยายตัวได้ 2.5% ก็ถือว่าดีแล้ว ทุกอย่างในครึ่งปีหลังขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเป็นสำคัญ

“ในช่วงครึ่งปีแรก ตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐลดลงหนักมาก ครึ่งปีหลังการส่งออกคงจะโดนหางเลขลดลงมากยิ่งขึ้น การลงทุนเมกะโปรเจ็กต์เป็นแค่เครื่องมือ หัวใจคือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

สั่งบีโอไอออกมาตรการพิเศษ

ดังนั้น เพื่อประคองสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน จะต้องเร่งให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ทำมาตรการดึงเม็ดเงินลงทุนทางตรง ด้วยการ tailor made หรือจัดทำมาตรการจูงใจนักลงทุนพิเศษเป็นการเฉพาะ เจาะประเภทธุรกิจ และมาตรการเฉพาะกับนักลงทุนจากบางประเทศที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย

“เพื่อรับมือกับมรสุมเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น ต้องใช้มาตรการการเงินควบคู่มาตรการการคลัง จึงต้องตั้งคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังขึ้น เพื่อเป็นเวทีหารือระดับนโยบาย ให้การเคลื่อนเศรษฐกิจ 2 ขาไปพร้อมกัน โดยมี รมว.คลังเป็นประธาน ร่วมด้วยผู้ว่าการแบงก์ชาติ เลขาฯ ก.ล.ต. ร่วมเป็นกรรมการ” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบขณะนี้เป็นเพียงระยะเริ่มต้น ซึ่งในอนาคตภาคส่งออกของไทยต้องเผชิญปัญหาความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และเงินบาทแข็งค่า ดังนั้น นโยบายการเงินและการคลังจะต้องไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อหารือเรื่องนโยบายการเงินและการคลังกันอย่างใกล้ชิด

“ZEN” ลดไซซ์-ลดต้นทุน

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN ผู้บริหารร้านอาหารญี่ปุ่นและอาหารไทยรวม 13 แบรนด์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลให้กำลังซื้อลดลง เป็นผลมาจากสงครามการค้า บวกกับค่าเงินบาทแข็ง ได้รับผลกระทบหลายด้านทั้งการขายและการส่งออก โดยเฉพาะภาคการเกษตรและการท่องเที่ยว จะเห็นว่า 3-4 ปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวในไทยกว่า 10 ล้านต่อปี แต่ปัจจุบันนักท่องเที่ยวลดลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น ธุรกิจต่าง ๆ ต้องประเมินผลกระทบเพื่อรับมือกับความเสี่ยงนี้ รวมถึงเซ็นกรุ๊ป ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร ต้องประเมินความเสี่ยงทั้งการลงทุนและการขยายร้านให้รัดกุม ด้วยการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ เน้นขยายสาขาขนาดเล็กลงเพราะใช้งบฯลงทุนไม่สูง และก่อนหน้านี้จะกำหนดจุดคุ้มทุนเกิน 3 ปี แต่วันนี้ปัจจัยเสี่ยงเกิดขึ้นตลอด จึงลดโมเดลธุรกิจให้เหลือระยะคืนทุนไม่เกิน 2 ปี พร้อมนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการร้าน พร้อมเน้นทำธุรกิจให้เร็ว ให้สามารถอยู่รอดท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

“แมกซ์แวลู” จ่อปรับแผน

นายโนโบรุ วาคายาม่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิออน (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้บริหารธุรกิจค้าปลีก “แมกซ์แวลู ซูเปอร์มาร์เก็ต” และ “แมกซ์แวลู ทันใจ” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดค้าปลีกไทยในปี 2562 มีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัวตั้งแต่ต้นปี และในช่วงครึ่งปีหลัง ปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐที่ยืดเยื้อยังกระทบ

ภาคส่งออกมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคระดับกลางชะลอการจับจ่ายลง อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น ต้องรอดูว่าจะสามารถกระตุ้นการจับจ่ายได้มากน้อยเพียงใด

สำหรับบริษัทขณะนี้อยู่ระหว่างทำแผนระยะ 3 ปี แต่ในระยะสั้นจะรับมือด้วยการอัพเกรดร้านค้า-สินค้า เพื่อสร้างความแตกต่างดึงดูดลูกค้า และชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งเป็นหลัก ซึ่งช่วยให้ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายเติบโตสูงกว่าปีที่แล้ว

ถือเงินสด-ชะลอลงทุน

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการธุรกิจรายหนึ่งกล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินบาท สงครามการค้า กระทบต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อของคนอย่างเลี่ยงไม่ได้ และส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมแทบทั้งหมด ทั้งผลิตและบริการ ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับแผนให้สอดรับกับเหตุการณ์ต่าง ๆ อยู่ตลอด สถานการณ์แบบนี้มองว่า ต้องถือเงินสดเอาไว้ หากไม่มีปัจจัยบวกก็ควรชะลอการลงทุนไปก่อน ในภาวะเช่นนี้ การมีเงินสดอาจเป็นโอกาสที่จะเข้าไปช้อนซื้อกิจการต่าง ๆ ที่ไปต่อไม่ไหวได้ในราคาดี

ตจว.กำลังจับจ่ายลดลง

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ผู้บริหารตั้งงี่สุน จังหวัดอุดรธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สงครามการค้าจีนสหรัฐไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อและธุรกิจการค้าระดับภูธร แต่มีผลกระทบทางอ้อม เพราะเกิดจากการทำลายเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งภาวะเศรษฐกิจเริ่มชะงัก อำนาจในการจับจ่ายตอนนี้ก็ลดลง ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบแน่นอน

“หลังจากที่ตั้งรัฐบาล คนจับจ่ายซื้อของคึกคัก แต่รัฐบาลไม่มีความเป็นหนึ่งเดียว ทำให้ขาดความเชื่อมั่น และยิ่งมาเจอสงครามการค้าเข้ามาซ้ำอีกยิ่งแย่ สำหรับผมเศรษฐกิจไม่ดี ผมยิ่งได้เปรียบเพราะผมขายของถูก ผู้บริโภคจะมาหาผมมากขึ้น แม้ว่าโปรโมชั่นอาจจะน้อยลง แต่ต้องบอกว่าตัวเลขของซัพพลายเออร์ยังคงอยู่ อย่างตั้งงี่สุ่นต้องทำงานหนักเพื่อให้ได้ตัวเลข บริหารการทำโปรโมชั่นให้ได้ดีที่สุด และสำหรับกลุ่มคนระดับฐานรากยังไม่รู้ว่าเหตุการณ์นี้คืออะไร แค่รู้ว่ารายรับน้อยกว่าเดิม”

ท่องเที่ยวชี้ปมใหญ่ “บาทแข็ง”

แหล่งข่าวจากธุรกิจโรงแรมกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้หลายฝ่ายในวงการธุรกิจท่องเที่ยวคาดการณ์ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโดยรวมของไทยในช่วงครึ่งปีหลังน่าเป็นห่วงกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากยังมองไม่เห็นปัจจัยบวกแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน ปัจจัยต่าง ๆ ที่เคยเป็นปัจจัยลบก็ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง แม้ว่า กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแล้วก็ตาม

“ตอนนี้ทุกเซ็กเตอร์ในธุรกิจท่องเที่ยวชะลอและสะดุดทั้งระบบ และเชื่อว่าหากค่าเงินบาทยังทรงตัวอยู่ในระดับ 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ภาคท่องเที่ยวก็ยังคงได้รับผลกระทบหนักขึ้น เพราะตอนนี้ธุรกิจจำนวนมากเริ่มแบกรับต้นทุนกันไม่ไหวแล้ว

ดังนั้น ภาครัฐควรหันมาแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทให้มาอยู่ในระดับสักประมาณ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐโดยเร็ว” แหล่งข่าวกล่าว

หยุดลงทุนทุกเซ็กเตอร์

นายไพศาล ธนสารสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทีเอ็มทีสตีล กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่บริษัทเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเหล็กครบวงจร ตั้งแต่เหล็กโครงสร้างขึ้นรูปเพื่อใช้ในงานก่อสร้าง เหล็กแผ่นสำหรับงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ถือเป็นต้นน้ำการลงทุนของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องยอมรับว่าเห็นภาพเศรษฐกิจชะลอตัวตั้งแต่ต้นปี และสถานการณ์ชัดเจนมากขึ้นในไตรมาส 2 จากปัญหาสงครามการค้า และเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ ชะลอการลงทุน ซึ่งในส่วนของบริษัทซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของอุตสาหกรรมต่าง ๆ พบว่าลูกค้าทุกกลุ่มมีคำสั่งซื้อลดลง ไม่ว่ากลุ่มผู้ผลิตรถเพื่อการพาณิชย์ โรงงานผลิตชั้นวางสินค้าในห้างค้าปลีก รวมถึงกำลังซื้อจากภาคก่อสร้างต่าง ๆ ก็ลดลง ขณะนี้มีตลาดเดียวที่ยอดขายยังปกติ คือ โครงการภาครัฐ

สำหรับผลประกอบการของบริษัทในไตรมาส 2/62 รายได้ 4,155.80 ล้านบาท ลดลง 2.83% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิ 107.63 ล้านบาท ลดลง 11.16% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

กรุงศรีฯช่วงประคองตัว

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด เปิดเผยว่า ตอนนี้ยังอยู่ในภาวะที่การลงทุนของทั้งภาครัฐและเอกชนยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน จึงเหลือแต่การท่องเที่ยวที่จะเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจโลก ประกอบกับเงินบาทที่แข็งค่า ก็ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลังเลในการเข้ามา

ท่องเที่ยวในไทย เพราะรู้สึกว่ามีค่าใช้จ่ายสูง จึงเป็นภาพที่น่ากังวลของภาวะเศรษฐกิจไทย ที่ทุกธุรกิจจะต้องจับตาและเตรียมพร้อมที่จะรับมือ

“เวลานี้คงยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีการปรับแผนธุรกิจเตรียมรับมืออย่างไร เพราะเพิ่งเริ่มช่วงของปัจจัยลบที่เข้ามากระทบ ขณะที่ กนง.เพิ่งประกาศลดอัตราดอกเบี้ย ก็คงต้องจับตาใกล้ชิดว่าจะมีผลกระทบอย่างไรบ้างหลังจากนี้ เป็นช่วงที่ทุกธุรกิจต้องประคองตัวให้มาก ส่วนกรุงศรีฯจะมีการปรับแผนธุรกิจเพื่อรับมือหรือไม่นั้น คงยังบอกไม่ได้ อาจต้องรอให้เห็นเอฟเฟ็กต์ที่ชัดกว่านี้ เช่น ตัวเลขการปล่อยสินเชื่อที่ชะงักงัน ช่วงนี้จึงเน้นที่การประคองตัวมากกว่า”

เดลต้าข้ามชอตลงทุนรอ EV บูม

ขณะที่นายแจ็คกี้ ชาง รองประธาน บริษัท เดลต้า อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับเดลต้าไม่เพียงไม่ลดกำลังการผลิต ยังได้ขยายโครงการก่อสร้างโรงงานแห่งที่ 7 ในนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับตลาดที่กำลังขยายตัวจากเทรนด์ที่กำลังมุ่งไปสู่การเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สินค้าส่วนหนึ่งจึงมีการพัฒนาและผลิตป้อนให้เป็นชิ้นส่วนที่ใช้ในรถ EV พร้อมกันนี้ได้เตรียมขยายการผลิตที่ประเทศอินเดีย โดยก่อสร้างโรงงานใหม่ 4 แห่ง เพื่อรองรับความต้องการตลาดในประเทศเอง และเพื่อการส่งออกจำนวนหนึ่ง เป็นการเพิ่มโอกาสในช่วงที่เกิดสงครามการค้า ส่วนเรื่องที่มีโครงการให้พนักงานลาออกนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่อยากได้ชดเชย ซึ่งมีดำเนินการทุกปี

Q2 กำไร บจ.ร่วงหนัก

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการนักกลยุทธ์การลงทุนฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียน

(บจ.) ไตรมาส 2/62 ออกมาไม่ดีแน่นอน จากหลายปัจจัยและไตรมาส 2 ปีนี้ พิเศษกว่าปีอื่น ๆ คือมีประกาศเรื่อง พ.ร.บ.แรงงานฉบับใหม่ ทำให้ บจ.ต้องตั้งสำรองเพิ่มสำหรับการเกษียณอายุพนักงาน ประเด็นสำคัญคือภาพเศรษฐกิจโลก ผลกระทบจากสงครามการค้าที่ยังคงยืดเยื้อ ทำให้กำไรของกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศโดนแรงกดค่อนข้างมาก ภาพรวมกำไรไตรมาส 2 คงจะปรับตัวลดลงทั้ง QOQ (เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า) และ YOY (เทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว)

“หุ้นขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อตลาดมากที่สุด คือ กลุ่มพลังงาน โดยคาดการณ์กำไรไตรมาส 2 จากการคำนวณของหุ้น 8 ตัวหลักมีกำไรอยู่ที่ 4.4 หมื่นล้านบาท ปรับตัวลดลงประมาณ -9% YOY และปรับลดลง -10% QOQ เนื่องจากสัญญาณของเทรนด์ค่าการกลั่นยังไม่ฟื้น ดีมานด์หดลง ขณะที่กลุ่มปิโตรเคมีกำไรลดลงประมาณ -30% QOQ และ -60% YOY ผลจากราคาปิโตรเคมีลดลงทั้งกลุ่มโอเลฟินส์และกลุ่มอะโรเมติกส์”

ส่วนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เกือบทุกตัวกำไรลดลง โดยรวมติดลบ -30% QOQ และติดลบ -40% YOY เพราะไตรมาส 2 เป็นช่วงการประกาศมาตรการคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (LTV) ทำให้ยอดโอนลดลง ภาพรวมก็ดูเหนื่อยพอควร ขณะที่ยังมีปัญหาซัพพลายล้นตลาด โดยเฉพาะในฝั่งคอนโดมิเนียมที่เกาะรถไฟฟ้าเส้นชานเมืองแทบจะขายไม่ออก สำหรับกลุ่มไอซีทีตัวเลขกำไรออกมาก็ถือว่าดีกว่าที่ตลาดคาดเกือบทุกตัว ซึ่งอาจเป็นเซ็กเตอร์เดียวที่แนวโน้มกำไรดีขึ้น