ค่าเงินบาททรงตัว จับตาจีดีพี Q2 โตต่ำ-หวัง ธปท.ลดดอกเบี้ยเพิ่ม

ค่าเงินบาท ธุรกิจแลกเงิน
แฟ้มภาพ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ประธานนักกลยุทธ์ตลาดทุนสายงานธุรกิจตลาดเงินทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า​ ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19 ส.ค.) ที่ระดับ 30.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน ส่วนกรอบค่าเงินบาทวันนี้อยู่ระหว่าง 30.60 – 31.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ในช่วงต้นสัปดาห์นี้เชื่อว่ารายงานตัวเลขการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยจะกดดันให้เงินบาทเคลื่อนไหวในแดนอ่อนค่า ด้วยความหวังว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัว  ขณะที่ในช่วงกลางถึงท้ายสัปดาห์ต้องจับตาไปที่ การสัมนา Jackson Hole

“ในปัจจุบัน ตลาดเชื่อว่า ทุกธนาคารกลางมีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย ดอลลาร์จึงอาจไม่สามารถอ่อนค่าต่อได้มากนัก ยิ่งในช่วงที่ตลาดการเงินอยู่ในภาวะผันผวน นอกจากนี้ เรามองว่าความเคลื่อนไหวของตลาดทุน ทั้งหุ้นและบอนด์ จะเป็นประเด็นหลักที่กำหนดทิศทางตลาดเงินอยู่ ซึ่งภาพตลาดที่ปิดรับความเสี่ยงง่าย ถือว่าไม่เป็นบวกต่อการลงทุนในเอเชียและเงินบาท” ดร.จิติพลกล่าว

ดร.จิติพล กล่าวอีกว่า สำหรับสัปดาห์นี้ มีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจหลายอย่าง เริ่มต้นในวันจันทร์ (19 ส.ค.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีกำหนดรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 คาดจีดีพีจะขยายตัว 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงจากระดับ 2.8% ในไตรมาสแรก จากทั้งการบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายของภาครัฐ ขณะที่ส่งออกก็หดตัวลงจากสงครามการค้า

ขณะที่วันอังคาร (20 ส.ค.) ต้องระวังความเสี่ยงการเมืองในอิตาลี เมื่อนายกรัฐมนตรี Giuseppe Conte ต้องเผชิญกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ (Vote of No-Confidence) จากวุฒิสภาที่อาจนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ในปีนี้

ส่วนวันพฤหัสฯ (22 ส.ค.) นักลงทุนทั่วโลกจะจับตาถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในงานสัมมนาประจำปีที่ Jackson Hole เพื่อประเมินมุมมองเฟด ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ และโอกาสการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปีนี้

ขณะเดียวกัน ฝั่งยุโรปก็จะรายงานการประชุมครั้งล่าสุดของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ด้วย ซึ่งต้องจับตาว่า ECB จะนำโครงการซื้อสินทรัพย์ (APP) กลับมาใช้อีกครั้งหรือไม่ ส่วนในฝั่งเอเชีย คาดว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) จะมีมติ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (7D Reverse Repo) ที่ระดับ 5.75%

และในวันศุกร์ (23 ส.ค.) กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นจะเปิดเผยว่าอัตราเงินเฟ้อ (CPI) ในเดือนกรกฎาคม คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 0.5% ชี้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป