เศรษฐกิจไทยน่าเป็นห่วง

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.3% ในไตรมาส 2 ต่ำสุดในรอบ 18 ไตรมาส หรือนับแต่ไตรมาส 4 ปี 2014 สาเหตุหลักที่ทำให้การขยายตัวชะลอลงเพราะการส่งออกหดตัวต่อเนื่องตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน ภาคการท่องเที่ยวก็ขยายตัวต่ำเนื่องจากการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวจีน ส่วนปัจจัยภายในประเทศนั้นการลงทุนของเอกชนขยายตัวช้าลง โดยเฉพาะภาคการก่อสร้าง การเบิกจ่ายเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจก็ชะลอลง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนนั้นยังคงเติบโตได้ดี โดยขยายตัว 4.4% (โตเกิน 4% มา 5 ไตรมาสอย่างต่อเนื่อง)

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจในไตรมาส 3 และแนวโน้มอาจสรุปได้ ดังนี้

1.การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องในเดือนกรกฎาคม โดยดัชนีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว 3.2% (ไตรมาส 1 -1.2%, ไตรมาส 2 -2.5%) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ หากการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังไม่ลดลงต่อเนื่อง อาจจะส่งผลต่อชั่วโมงทำงานและการจ้างงานได้ นั่นหมายความว่า รายได้ของแรงงานจะลดลง และทำให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลงในที่สุด

Advertisment

2.การส่งออก (หักทองคำออก) ยังคงหดตัว 1.7% แต่ปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรก (ไตรมาส 1 -4%, ไตรมาส 2 -5.8%) อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการขึ้นภาษีตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนน่าจะทำให้การส่งออกของไทยในช่วงปีข้างหน้ายังไม่สามารถฟื้นตัวได้

3.การท่องเที่ยวในเดือนกรกฎาคมปรับตัวดีขึ้น โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.7% โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เข้าไทย 980,000 คน ในเดือนกรกฎาคม และหากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนยังคงเข้ามาในระดับ 8-9 แสนคนต่อเดือน ก็น่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินหยวนที่อ่อนตัวลงอย่างมาก (ค่าเงินหยวนอ่อนลงกว่า 10% เทียบกับบาท) และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนไม่เพิ่มขึ้นมากดังที่หวังไว้

4.ด้านการบริโภคนั้นยังขยายตัวได้พอสมควร แต่การบริโภคสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ และที่อยู่อาศัย น่าจะชะลอลงตามการชะลอตัวของการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินที่เริ่มเข้มงวดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวลง ส่วนการลงทุนนั้นคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำตามภาวะความไม่แน่นอนสูงและเศรษฐกิจที่ซบเซา

5.การจ้างงานเดือนกรกฎาคมปรับตัวลดลง โดยมีการจ้างงาน 37.62 ล้านคน ลดลงจากปีก่อนหน้า 1 ล้านคน กว่าครึ่งหนึ่งเป็นการลดลงของการจ้างงานในภาคการเกษตร ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากภาวะแล้งทำให้มีการชะลอการปลูกข้าว (หากฝนเริ่มตก และปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นน่าจะทำให้การจ้างงานกลับมาส่วนหนึ่ง) สำหรับนอกภาคการเกษตรการจ้างงานที่ปรับลดลงมากมาจากภาคค้าส่ง/ค้าปลีก และการซ่อมยานยนต์ ภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง (แสดงถึงภาวการณ์ชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ) นอกจากนี้ ในภาพรวมชั่วโมงการทำงาน (การทำงานล่วงเวลา) ก็ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากต้นปี ทั้งนี้ ภาคเศรษฐกิจที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น คือ ภาคการขนส่งสินค้า และท่องเที่ยว

Advertisment

6.หนี้ครัวเรือน มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดในไตรมาส 1 ปีนี้ หนี้ครัวเรือนมีมูลค่า 12.97 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.3% จากปีช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวในระดับสูงใกล้ 6% ติดต่อกันนับแต่ไตรมาส 2 ปี 2018 หนี้ครัวเรือน ที่น่าเป็นกังวล คือ สินเชื่ออุปโภคบริโภค (บ้าน รถยนต์ บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลอื่น ๆ) ซึ่งมีอัตราการขยายตัวสูงใกล้ 10% ทั้งนี้ ข้อมูลการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 พบว่าสินเชื่อบ้านและรถยนต์มีการชะลอตัวลงบ้างจากมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อของแบงก์ชาติ และการชะลอตัวของกำลังซื้อ ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลนั้นยังขยายตัวต่อเนื่อง

7.หนี้เสียปรับตัวสูงขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว และหากการจ้างงานยังคงปรับลดลง โดยหนี้เสียที่น่าเป็นห่วงและมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น คือ หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค หนี้บัตรเครดิต และหนี้เสียของธุรกิจขนาดเล็กต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคการเกษตร และค้าปลีกรายย่อย

8.ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ขณะที่ค่าเงินของประเทศอื่น ๆ อ่อนค่าลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ค่าเงินบาทกลับมีเสถียรภาพและแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ๆ ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลลบกับกลุ่มผู้ส่งออก ทำให้มีรายได้น้อยลงโดยเฉพาะ ผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร สรุปว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในภาคส่วนต่าง ๆ นั้นดูน่าเป็นห่วงและมีแนวโน้มชะลอตัวลง แม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินรวมกว่า 3 แสนล้านบาท และแบงก์ชาติก็ปรับลดดอกเบี้ยให้ 0.25% แต่ผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจนั้นอาจจะไม่เพียงพอที่จะรองรับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ทำให้มีการคาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวต่ำกว่า 3%

และที่น่ากังวลกว่า คือ ในปี 2020 มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเกิดภาวะถดถอยมีเพิ่มขึ้น แล้วเศรษฐกิจไทยจะรับมืออย่างไร