ครัวเรือนหนี้ท่วม130% ธปท.หวั่นเศรษฐกิจติดหล่ม

ผู้ว่าการแบงก์ชาติย้ำความกังวลปัญหา “หนี้ครัวเรือน” บั่นทอนเศรษฐกิจยั่งยืน เผยสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ครัวเรือนสูงถึง 130-140% แถม “หนี้คนรุ่นใหม่” เพิ่มตามการใช้อินเทอร์เน็ตชูบทบาทกำกับสถาบันการเงินส.ธนาคารไทย แตะเบรกผ่อน 0% สินค้าไม่ก่อประโยชน์ เลิกแคมเปญกระตุ้นผู้มีรายได้น้อย “ซีพีเอฟ” ร่วมแรงทำโครงการ “ปลดหนี้-สร้างสุข” พนักงาน 1,200 คน กยศ.ฉีดวัคซีน “คนดีมีวินัย” ลดการเบี้ยวหนี้การศึกษา

ครัวเรือนหนี้ท่วม 130%

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยระหว่างร่วมงานสัมมนาหัวข้อ “แนวพระราชดำริ ภูมิคุ้มกันสังคม วัคซีนธุรกิจยั่งยืน” จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 78.7% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นเศรษฐกิจแมคโคร แต่ที่สำคัญมากกว่าคือระดับไมโคร

“ถ้าไปดูคุณภาพของลูกหนี้ และลูกหนี้ตามประเภทต่าง ๆ มีความน่ากลัวมากกว่าเยอะ เพราะเราเอาข้อมูลทุกสัญญาจากเครดิตบูโรมาดู พบว่าคนเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย และผู้กู้อายุ 29-30 ปี พบว่า 1 ใน 5 ของกลุ่มนี้เป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) หมายความคนที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต คนที่เป็นผู้นำครอบครัว เป็นพนักงานจะกลัวโทรศัพท์มาตามหนี้ หรือหนี้ภาคเกษตรที่เห็นว่าเป็นการกู้ไปทำธุรกิจ ส่วนหนึ่งก็เป็นหนี้เกษตรกร ซึ่งพบว่าอายุ 60 ปีไปแล้วหนี้ก็ยังไม่ลด คือเมื่อดูลงไปในระดับไมโครปัญหาเยอะมาก ”

นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้ครัวเรือน 78.7% ของจีดีพี ยังไม่รวมหนี้ กยศ. (กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา) และหนี้นอกระบบ ขณะที่แชร์ของจีดีพีส่วนใหญ่มาจากบริษัทใหญ่ ๆ จีดีพีที่เพิ่มขึ้นมาจากบริษัทใหญ่ ๆ แต่ถ้าไปดูสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ พบว่าสูงถึง 130-140% เพราะรายได้ครัวเรือนไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ และตัวเลขหนี้เพิ่มเร็วกว่า รายได้ภาคครัวเรือน อย่างเรื่องมาตรการแอลทีวีที่ออกมา เพราะเกิด “สินเชื่อเงินทอน” ซึ่งเป็นต้นเหตุหนึ่งของหนี้ครัวเรือนที่คนไม่ได้ตั้งใจ

“ส่วนหนึ่ง ธปท.ส่งสัญญาณไปในส่วนที่กำกับว่า คุณทำธุรกิจแบบนี้ต่อไปไม่ได้ ทั้งแบงก์ บริษัทบัตรเครดิต บริษัทสินเชื่อบุคคล และอีกด้านหนึ่งคือการส่งสัญญาณให้กับส่วนที่ ธปท.ไม่ได้กำกับด้วย เพื่อที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญที่จะร่วมกัน เพราะถ้าเรากำกับด้านเดียวก็เหมือนน้ำปิดด้านนี้ก็ไปออกอีกทาง ก็ต้องพยายามสร้างการรับรู้ ร่วมมือกันทุกฝ่าย”

เสพออนไลน์นานหนุน “หนี้เพิ่ม”

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ จากการศึกษาของ ธปท.เห็นชัดว่า คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องหนี้ลดลง ทำงานเดือนแรกก็ไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้ว เพราะมีผ่อน 0% 6 เดือน นอกจากนี้ก็มีการซื้อของทางอินเทอร์เน็ตกันตลอดเวลา มีผลศึกษาของแบงก์ชาติที่ไปดูเรื่องพฤติกรรมการใช้จ่ายพบว่า สัดส่วนการเป็นหนี้ขึ้นกับระยะเวลาการใช้อินเทอร์เน็ตต่อวัน

“เพราะนี่คือพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ซื้อสินค้าผ่านไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งเห็นชัดว่าเรื่องการก่อหนี้เป็นเรื่องหลากหลายปัจจัย แต่สิ่งที่แบงก์ชาติทำได้คือคุมสถาบันการเงินที่กำกับด้วยกฎเกณฑ์ต่าง ๆ แต่พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการวางแผนทางการเงินคือโจทย์ใหญ่ของประเทศ”

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้คงไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล หรือของใครคนใดคนหนึ่ง แน่นอนว่าภาครัฐเป็นตัวกำหนดกรอบสร้างระบบนิเวศ แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบร่วมกันในบทบาทที่แตกต่าง รวมทั้งภาคธุรกิจและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ

“แบงก์ชาติก็มีหน้าที่ต้องออกกฎเกณฑ์กำกับดูแลให้เหมาะสม ไม่ให้สถาบันการเงินแข่งขันจนไปซ้ำเติมปัญหาให้รุนแรงขึ้น ที่ผ่านมาจึงออกเกณฑ์เรื่องบัตรเครดิต เรื่องสินเชื่อส่วนบุคคล LTV สินเชื่อที่อยู่อาศัย และล่าสุดก็เรื่องสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ แต่ ธปท.ก็ไม่ได้กำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินทุกราย อย่างสหกรณ์ออมทรัพย์ ลีสซิ่งก็ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของเรา”

นอกจากนี้ ในเวทีสัมมนาหัวข้อ “แนวพระราชดำริ ภูมิคุ้มกันสังคม วัคซีนธุรกิจยั่งยืน” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวถึงการสร้างภูมิคุ้มกัน วัคซีนธุรกิจยั่งยืนใน 3 ประเด็น คือ 1.ทำอย่างไรให้คนไทยเก่งขึ้น และใช้ความเก่งอย่างเต็มความสามารถ 2.ไม่เบียดบังทรัพยากรหรือคุณภาพชีวิตของคนรุ่นต่อไปมาใช้ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเช่น การตั้งงบประมาณขาดดุลมาก ๆ ก็ถือว่าเป็นการเบียดบังเอาภาษีของคนในอนาคตมาใช้ในวันนี้ เป็นต้น และ 3.ทำอย่างไรให้มีภูมิคุ้มกันที่ดี (safetyness) ในโลกยุคที่มีความผันผวนสูง

แบงก์แตะเบรกผ่อน 0%

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น มาพร้อมกับค่าใช้จ่าย ปัญหาคือรายได้ของคนไทยเติบโตไม่ทันกับค่าใช้จ่าย ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยปัจจุบันอยู่ที่ 78.7% ต่อจีดีพี ซึ่งพบว่าแบ่งเป็นหนี้ส่วนบุคคลสูงสุด 34% หนี้บ้าน 33% หนี้เพื่อธุรกิจ 18% ยานยนต์ 12% และบัตรเครดิต 3%

การมีหนี้ครัวเรือนสูงจะเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงิน เพราะหากคนไม่จ่ายหนี้อาจส่งผลให้ระบบล้มได้ ขณะที่ผลศึกษาต่างประเทศระบุว่า หนี้ครัวเรือนที่คาดว่าจะเป็นอันตรายต่อสภาพเศรษฐกิจอยู่ที่ 84% ต่อจีดีพี แต่ก็ใช่ว่า 78.7% ต่อจีดีพีจะไม่อันตราย เพราะขึ้นอยู่กับพื้นฐานของแต่ละประเทศ

ธนาคารพาณิชย์มีการตระหนักเรื่องหนี้ครัวเรือน โดยมีการเซ็น MOU การปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ ให้เหมาะสมกับภาวการณ์ต่าง ๆ และพิจารณาว่าลูกหนี้กู้ไปบริโภคโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือไม่ จากในอดีตอาจพิจารณาเพียงความสามารถในการชำระคืนเท่านั้น โดยขณะนี้หลาย ๆ ธนาคารก็ชะลอการกระตุ้นแคมเปญในกลุ่มที่จะเป็นการก่อหนี้เกินตัว

นายปรีดีกล่าวอีกว่า การปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบจะพิจารณาตั้งแต่สินเชื่อรายใหญ่ไปจนถึงรายเล็ก เช่น ในรายใหญ่ธนาคารจะระมัดระวังการให้สินเชื่อที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมสำหรับรายเล็กจะพิจารณาถึงความจำเป็นหรือวัตถุประสงสค์ที่จะนำไปใช้ ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตโดยเฉพาะการทำ
โปรโมชั่นผ่อน 0% อาจจะลดลง โดยเฉพาะในส่วนที่จะกระตุ้นให้เกิดหนี้ที่ไม่จำเป็นอย่างไรก็ตาม โปรโมชั่น 0% สำหรับสินเชื่อที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่าย ธนาคารยังสนับสนุนอยู่

ตลท.หนุน บจ.สู่ความยั่งยืน

ด้านนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลท.ได้เดินหน้า 2 บทบาทหลัก คือ 1.การสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนมีความรู้และความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งถือเป็นภูมิคุ้มกันแรกที่สำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศก้าวผ่านพ้นกับดักความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้

“ส่วนใหญ่หนี้จำนวน 40-50% เป็นหนี้ระยะสั้น ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคล หนี้บัตรเครดิต หนี้รถยนต์ ขณะที่หนี้อสังหาริมทรัพย์ (กู้ซื้อบ้าน) ซึ่งเป็นหนี้ระยะยาวมีสัดส่วนเพียง 33% ของหนี้ครัวเรือนดังนั้น หากภาระหนี้ระยะสั้นเพิ่มขึ้น จะทำให้ลูกหนี้ต้องนำเงินอนาคตมาใช้ ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้การบริโภคในอนาคตลดลงและจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ”

ส่วนบทบาทที่ 2 คือ การสร้างภูมิคุ้มกันด้านธุรกิจ ในการสร้างคุณภาพให้กับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) โดยยกระดับการกำกับกิจการดูแลที่ดีมาสู่การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมหรือ ESG โดย ตลท.ได้พัฒนาทั้งกฎเกณฑ์และความรู้ต่าง ๆ วางรากฐานให้ บจ.มีธรรมาภิบาลที่ดี ส่งผลให้บริษัทเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายขึ้นและเติบโตต่อไปได้ ปัจจุบันความน่าเชื่อถือของ บจ.ไทยเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับ 5 ในทวีปเอเชีย รวมถึงยังมีกว่า 20 บริษัทได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มบริษัทระดับโลก

CPF ชู “ปลดหนี้-สร้างสุข”

นายปริโสทัต ปุณณภุม รองกรรมการผู้จัดการบริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการดูแลใส่ใจปัญหาการก่อหนี้จากสิ่งที่ไม่จำเป็นของพนักงาน จึงได้จัดทำโครงการ “ปลดหนี้ สร้างสุข” มาตั้งแต่ปี 2558 ให้กลุ่มพนักงานฟาร์ม มีปัญหาหนี้สินจำนวนมาก

“ปัญหาหนี้สินของพนักงานที่พบ เช่น รายได้ 20,000 บาทต่อเดือน แต่ก่อหนี้สินสูงถึง 18,000-19,000 บาท จากการซื้อรถกระบะ หนี้นอกระบบ บริษัทเล็งเห็นปัญหาจึงเข้าไปให้คำแนะนำเพื่อลดปัญหาหนี้สิน เพื่ออนาคตของพนักงาน เริ่มแรกก็ตั้งกองทุนช่วยเหลือพนักงาน แต่เนื่องจากพนักงานมีจำนวนมากถึง 70,000 คน ดึงสถาบันทางการเงินเข้ามาช่วยสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ก็ต้องยอมรับว่าสถาบันทางการเงินก็มีเงื่อนไขในการเข้าโครงการ ดังนั้นเราจึงต้องคัดเลือกพนักงานที่จะเข้าโครงการเพื่อลดภาระหนี้ ทำแบบสอบถามเพื่อป้องกันเรื่องหนีหนี้ ต้องยอมรับว่ามีพนักงานที่เข้าร่วมโครงการได้และไม่ได้ เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาที่แท้จริง”

สิ่งสำคัญในการปลดหนี้คือ การให้ความรู้ คำแนะนำการวางแผนทางการเงิน ให้พนักงานทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้ทราบค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมถึงการแนะนำให้พนักงานนำส่วนต่างของดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้กับทางธนาคารเข้ามาเก็บเป็นเงินออม ปัจจุบันมีพนักงานเข้าร่วมโครงการปลดหนี้ 1,200 ราย วงเงินกู้ประมาณ 380 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมองถึงความสำเร็จของโครงการในระยะยาว และความต่อเนื่องของโครงการยังได้ถ่ายทอดวิธีการช่วยเหลือ การดูแลพนักงานให้กับผู้จัดการฟาร์มที่จะขึ้นมาดูแลโครงการต่อไปด้วย เพื่อเป้าหมายความสุขของพนักงานและความยั่งยืนของธุรกิจ

“ขาดวินัย-จิตสำนึก” เบี้ยวหนี้

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ระบุว่าช่วง 20 ปีที่กองทุนปล่อยกู้กว่า 5.6 ล้านคน วงเงินรวม 6 แสนล้านบาท ผู้กู้ยืมเงินมีการชำระหนี้และปิดบัญชีเรียบร้อยประมาณ 1 ล้านคน ยังอยู่ระหว่างเรียน 1 ล้านคน และอีกราว 3 ล้านคนอยู่ระหว่างการชำระหนี้ พบสัดส่วน 50% ที่ผิดนัดชำระหนี้คิดเป็นมูลค่า 70,000 ล้านบาท และมีการฟ้องร้องบังคับคดีแล้ว 1.5 ล้านคดี

ส่วนที่ค้างชำระหนี้ กยศ.แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1) กลุ่มยากจน ที่ให้โอกาสเข้าถึงการศึกษา แต่บางส่วนแม้ว่าเรียนจบแล้วแต่ชีวิตยังไม่ดีขึ้น 2) กลุ่มขาดวินัยทางการเงิน ภายหลังเรียนจบก็มีภาระหนี้ใหม่ เช่น ซื้อบ้านและซื้อรถยนต์ ทำให้ไม่สามารถจ่ายหนี้ กยศ. ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนค้างหนี้ชำระมากที่สุด และ 3) กลุ่มขาดจิตสำนึกคือมีรายได้พอชำระหนี้ได้แต่ไม่จ่าย


ทั้ง 3 กลุ่มนี้ถือว่า วัคซีนเข็มแรกคือการให้วัคซีนความรู้อย่างเดียวไม่น่าจะพอ ต้องปลูกฝังการออม การชำระหนี้ กยศ.ง่ายมาก จากอัตราหนี้เฉลี่ยแต่ละคน อยู่ที่ 100,000 บาทเท่านั้น ซึ่งให้เวลาชำระหนี้ถึง 15 ปี หากมีวินัยการใช้เงินก็สามารถใช้หนี้คืนได้”