ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า หลังนักลงทุนคลายความกังวลพายุเออร์มา

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 12 กันยายน 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/9) ที่ระดับ 33.13/15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (11/9) ที่ 33.11/13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าอย่างต่อเนื่องเทียบค่าเงินสกุลหลัก หลังจากที่ช่วงสุดสัปดาห์นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี โดยประเทศเกาหลีเหนือไม่ได้มีการยิงขีปนาวุธอย่างที่หลาย ๆ ฝ่ายคาดการณ์ไว้ และล่าสุดพายุเฮอริเคนเออร์มาได้ลดระดับความรุนแรงลงจนกลายเป็นพายุโซนร้อนแล้ว

ส่วนค่าเงินบาทหลังจากที่อ่อนค่าลงจากแรงกดดันของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเช้า ก็กลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้งในช่วงบ่ายจากเงินทุนที่ไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับการแถลงการณ์ของทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมายอมรับว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในระยะนี้ถือว่าแข็งค่าสุดในภูมิภาค ซึ่งหลัก ๆ มาจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนั้นยังมาจากนักลงทุนต่างชาติคลายความกังวลสถานการณ์การเมืองในประเทศ ทำให้มั่นใจมากขึ้นในการนำเงินเข้ามาลงทุน รวมทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทำให้ไทยเกินดุลการค้า อย่างไรก็ตาม ทาง ธปท.จะจับตาข้อมูลเชิงลึกเพิ่มขึ้นในช่วงต่อจากนี้ หลังจากช่วงที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว และมีมาตรการเตรียมไว้แล้ว และพร้อมนำมาใช้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ขณะที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันยังอยู่ในระดับเหมาะสมและผ่อนคลายเพียงพอ เอื้อต่อการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ ตลอดจนสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทยอยปรับตัวสูงขึ้นและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันยังเป็นระดับที่เหมาะสมและผ่อนคลายเพียงพอที่จะเอื้อต่อการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้เร็วขึ้นจะมีผลจำกัด เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงมาจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก และบางส่วนอาจมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.08-33.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.10/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (12/9) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1950/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (11/9) ที่ 1.2014/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยธนาคารกลางฝรั่งเศสเปิดเผยว่า (11/9) เศรษฐกิจฝรั่งเศสในไตรมาส 3 ปีนี้มีแนวโน้มขยายตัว 0.5% จากไตรมาส 2 ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจฝรั่งเศสยังคงมีการขยายตัวในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ นอกจากนี้รายงานผลสำรวจภาคธุรกิจรายเดือนของธนาคารกลางฝรั่งเศสระบุว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม มีการขยายตัวน้อยกว่าเดือนกรกฎาคม แต่กิจกรรมในภาคบริการมีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่กิจกรรมในอุตสาหกรรมก่อสร้างมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้สำนักงานสถิติแห่งชาติฝรั่งเศสเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/2560 โดยระบุว่า เศรษฐกิจขยายตัว 0.5% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และเท่ากับตัวเลขประมาณการเบื้องต้น ทั้งวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1944-1.1978 ดอลลา์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1961/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนในวันนี้ (12/9) เปิดตลาดที่ระดับ 109.37/39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (11/9) ที่ระดับ 108.45/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า (11/9) ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานของภาคเอกชนในเดือนกรกฎาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน สู่ระดับ 8.533 แสนล้านเยน (7.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการผลิต ทั้งนี้ รายงานระบุว่ายอดสั่งซื้อจากภาคการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.9% สู่ระดับ 3.557 แสนล้านเยน โดยได้ปัจจัยหนุนจากยอดสั่งซื้อในอุตสาหกรรมการต่อเรือ และอุตสาหกรรมโลหะนอกกลุ่มเหล็ก ส่วนความต้องการเครื่องจักรของญี่ปุ่นในตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นมาตรวัดการส่งออกในอนาคตนั้น ปรับตัวดีขึ้น 9.1% แตะที่ระดับ 9.959 แสนล้านเยน ทั้งนี้การเคลื่อนไหวระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.23-109.74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.66/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในช่วงสัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนี (13/9) อัตราการว่างงานของอังกฤษ (13/9) ดัชนีราคาผู้ผลิตของรัฐ (13/9) อัตราการว่างงานของออสเตรเลีย (13/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.50/-2.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.30/-1.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ