High Yield Bond หุ้นกู้ความเสี่ยงสูง

คอลัมน์ สถานีลงทุน
โดย ธนพัฒน์ พัฒนเสรีเสถียร สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

ใช่ high yield bond เป็นหุ้นกู้จ่ายผลตอบแทนสูง แต่ความเสี่ยงก็สูงด้วยเช่นกัน ในต่างประเทศมีชื่อเรียกหุ้นกู้เหล่านี้อีกว่า junk bond หรือ speculative bond ซึ่งเป็นชื่อที่สะท้อนถึงความเสี่ยงด้านเครดิตได้อย่างดี หุ้นกู้เหล่านี้จึงให้ผลตอบแทนที่สูงชดเชยกับความเสี่ยงด้านเครดิตในการผิดนัดชำระที่สูงขึ้นนั่นเอง โดย high yield bond จะหมายถึงหุ้นกู้ที่มีเรตติ้งต่ำกว่า BBB- ลงมา คือ BB, B, C ซึ่งอาจรวมไปถึงหุ้นกู้ไม่มีเรตติ้งด้วย

หุ้นกู้ที่มีเรตติ้งยิ่งต่ำ โอกาสในการผิดนัดชำระก็ยิ่งสูง จากสถิติในอดีตพบว่าหุ้นกู้เรตติ้ง BB จะมีโอกาสผิดนัดชำระในช่วงเวลา 1 ปี เท่ากับ 3.17% หรือเทียบง่าย ๆ คือพอ ๆ กับโอกาสหยิบธนบัตรขึ้นมาแล้วเจอเลข 3 ใน 2 เลขท้าย (ข้อมูลจาก Transition Probability Matrix บนเว็บไซต์ ThaiBMA)

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตลาด high yield bond ของไทยได้รับความนิยมมากขึ้น เห็นได้จากมูลค่าคงค้างที่เพิ่มขึ้นจาก 46 พันล้านบาทในปี 2015 เป็น 127 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2019 เมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวเพิ่มขึ้นจาก 2.41% มาที่ 3.92%

ทำไมภาคธุรกิจถึงออก high yield bond เหตุผลก็คือ การระดมทุนผ่าน high yield bond แม้จะต้องจ่ายผลตอบแทนสูง แต่ก็ช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำกว่าการกู้ธนาคาร ผู้ออก high yield bond จำนวนมากเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ก็ได้รับอันดับเครดิตในระดับต่ำอาจเพราะเป็นธุรกิจใหม่ มีภาระหนี้สินสูง หรือมีกระแสเงินสดที่ไม่มั่นคงนัก นอกจากนั้น บางบริษัทที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนักต้องการกู้เงินในปริมาณน้อยอาจออกหุ้นกู้แบบไม่มีเรตติ้งเพื่อประหยัดต้นทุนการจัดอันดับเครดิต หรือบางบริษัทอาจเลือกที่จะไม่จัดเรตติ้งแบบเปิดเผยเพราะไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูลธุรกิจแก่บุคคลทั่วไป

ผู้ลงทุนหลักของ high yield bond ในประเทศไทย คือ กลุ่มนักลงทุนบุคคลธรรมดา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนรายใหญ่ (high net worth) โดยมียอดถือครองเพิ่มขึ้นทุกปีจากปี 2015 มีสัดส่วนอยู่ที่ 76% ของมูลค่าคงค้าง high yield bond ทั้งหมด เพิ่มขึ้นเป็น 86% ณ ครึ่งปีแรก 2019 ต่างจากประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่ส่วนใหญ่นักลงทุนจะลงทุนใน high yield bond ผ่านกองทุนรวมที่จะได้รับประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงมากกว่า

นักลงทุนสถาบันในประเทศไทยอย่างกลุ่มกองทุนรวมลงทุนใน high yield bond (ไม่รวมตราสารหนี้ระยะสั้น) ค่อนข้างน้อย สัดส่วนการถือครองของกองทุนลดลงจาก 8% เป็น 2% ของมูลค่าคงค้าง high yield bond ทั้งหมด เช่นเดียวกันกับกลุ่มสถาบันการเงินที่ลดลงจาก 4% เหลือ 2% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ด้านบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ พบว่ากว่า 60% ของ high yield bond มาจากกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (PROP sector) โดยมีมูลค่าคงค้างของ high yield bond ประมาณ 84 พันล้านบาท ซึ่งในช่วงหลัง ๆ จะมีการนำสินทรัพย์ เช่น ที่ดิน อาคาร มาค้ำประกันการออก high yield bond เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้นักลงทุน

การลงทุนใน high yield bond ที่ให้ผลตอบแทนสูง (ความเสี่ยงก็สูง) นี้ก็ย่อมมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระสูงกว่าหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตดี ๆ ดังนั้น นักลงทุนไม่ควรตัดสินใจลงทุนโดยดูเพียงอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาฐานะการเงิน สัดส่วนหนี้สินเมื่อเทียบกับทุน (D/E ratio) สภาพคล่องทางการเงินของบริษัทผู้ออก รวมไปถึงความน่าเชื่อถือของผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารด้วย และที่สำคัญควรกระจายการลงทุนใน high yield bond หลาย ๆ ตัว โดยกองทุน high yield bond ในต่างประเทศส่วนใหญ่กระจายลงทุนใน high yield bond อย่างน้อย 50 รุ่น

ซึ่งสำหรับนักลงทุนทั่วไปแล้วการลงทุนผ่านกองทุนรวมจะช่วยในเรื่องการกระจายความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น