เปิดข้อมูล​สิทธิ​ประโยชน์​กองทุน​ SSF vs LTF

นายอุตตม สาวนายน
แฟ้มภาพ
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund: SSF) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบเพื่อ โดยจะมาแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะสิ้นสุดในสิ้นปี 2562 นั้น ได้มีการออกแบบให้ตอบโจทย์ส่งเสริมการออมระยะยาว รองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุ โดยจูงใจให้เกิดการออมเงินในทุกช่วงอายุ มีกลุ่มเป้าหมายใหม่คือ คนวัยเริ่มทำงาน ซึ่ง SSF จะมีความแตกต่างไปจาก LTF เดิมในหลายประการ

โดยบุคคลธรรมดาที่ซื้อกองทุน SSF จะได้รับสิทธิ์ประโยชน์ทางภาษี คือ สามารถสามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน SSF ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยเมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ (กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี ส่วนกองทุน LTF จะให้ลดหย่อนภาษีค่าซื้อหน่วยลงทุนได้ไม่เกิน 15% ของรายได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

เปรียบเทียบกองทุน SSF กับ LTF
คลิกที่ภาพเพื่อขยาย

ทั้งนี้ การหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนใน SSF กำหนดไว้ 5 ปี (2563 – 2567) หลังจากนั้นกระทรวงการคลังจะประเมินผลและทบทวนมาตรการเพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป แต่ผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีจะต้องถือครอง SSF เป็นเวลา 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ จึงจะขายคืนหน่วยลงทุนได้ โดยไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี และไม่กำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อหน่วยลงทุน เพียงแต่ปีที่ลงทุนจึงจะได้ลดหย่อนภาษี ขณะที่ LTF เดิม กำหนดให้ถือครองต้องเป็นเวลา 7 ปีปฏิทิน โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี ลงทุนปีไหนก็ใช้สิทธิปีนั้นเช่นกัน และไม่กำหนดวงเงินลงทุนขั้นต่ำต่อปีเช่นเดียวกัน

ขณะที่นโยบายการลงทุนกองทุน SSF สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท ไม่จำกัด จากเดิมที่ LTF กำหนดสัดส่วนลงทุนในหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65%

“กองทุน SSF จะแตกต่างไปจาก LTF โดยจะลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท ไม่กำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อหน่วยลงทุน และไม่กำหนดเงื่อนไขในการซื้อต่อเนื่อง เพียงแต่ผู้ซื้อกองทุน SSF จะขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อถือมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ” นายอุตตมกล่าว

ทั้งนี้ กองทุน SSF ออกแบบเพื่อการออมระยะยาว แต่ไม่ใช่เพื่อให้ทำหน้าที่เหมือนกับ LTF ที่เดิมถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน โดยกรณีผู้ที่ซื้อกองทุน SSF และ RMF เต็มเพดาน หากมีรายได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท/เดือน จะมีเงินออมเพิ่มขึ้นได้ปีละ 1.08 แสนบาท, ถ้ามีรายได้ 5 หมื่นบาท จะมีเงินออมเพิ่มขึ้น 3.6 แสนบาท และ ถ้ามีรายได้ 1 แสนบาท ก็จะมีเงินออกเพิ่มปีละ 5 หมื่นบาท

“เราพยายามสร้างให้ SSF มีความน่าสนใจสำหรับการออมในระยะยาว ไม่ได้ออกแบบมาให้แทน LTF แล้วทำหน้าที่เหมือน LTF เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป วันนี้เรามีโจทย์ใหม่ เรื่องสังคมสูงอายุ ที่ต้องการส่งเสริมการออมระยะยาว” นายอุตตมกล่าว

รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า ปี 2561 มีผู้ใช้สิทธิขอคืนภาษี LTF กว่า 4 แสนราย เป็นเงินภาษีที่ขอคืนกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่ากองทุน SSF ก็จะมีผลต่อการสูญเสียรายได้ภาษีใกล้เคียงกับ LTF ซึ่งเชื่อว่าจะคุ้มค่าต่อการส่งเสริมให้มีเงินออมเข้าสู่ระบบ

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ประเมินว่า เงินไหลเข้าลงทุนในกองทุน SSF น่าจะมีระดับใกล้เคียงกับ LTF ที่มีเม็ดเงินไหลเข้าราว 5 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยกองทุนออกแบบมาให้จูงใจกลุ่มเป้าหมายใหม่เข้ามาด้วย คือ กลุ่มที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน ที่มีรายได้ปานกลาง