แบงก์ปรับแผนสกัดหนี้เสียพุ่ง งัด DSR คุม-ลดวงเงินกดเงินสดล่วงหน้า

แบงก์ปรับแผนสกัดหนี้เสีย “กรุงศรี คอนซูมเมอร์” งัด DSR 70% คัดกรองลูกค้า-ลดวงเงิน “กดเงินสดล่วงหน้า” คาดเอ็นพีแอลบัตรเครดิตปีนี้เพิ่ม 0.4% “กสิกรไทย” ชี้เศรษฐกิจชะลอทำให้ความสามารถกู้เงินลูกค้าถดถอย ฟาก “ธนชาต” ยันยึด DSR 50-70% ปล่อยกู้ซื้อรถใหม่-เรียกเงินดาวน์ขั้นต่ำ 15%

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรุงศรีได้ปรับกระบวนการปล่อยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (บัตรกดเงินสด) ใหม่ โดยจะคัดกรองลูกค้าเข้มขึ้นเพื่อเป็นการสกัดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไม่ให้เพิ่มขึ้นตั้งแต่เริ่มต้น หลังพบว่าช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเอ็นพีแอลมีสัญญาณเร่งตัวขึ้น รวมถึงลูกค้าเริ่มชำระหนี้ล่าช้าขึ้นและกระจายในหลายกลุ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นไปตามวัฏจักรขาขึ้นของหนี้เอ็นพีแอล เนื่องจากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่เอ็นพีแอลลงไประดับต่ำสุดแล้ว

“การขยับขึ้นของเอ็นพีแอลจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปในช่วง 2 ปีหลังจากนี้ โดยเฉพาะบัตรเครดิตที่คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะเห็นเอ็นพีแอลขยับเพิ่มขึ้นราว 0.4% จากปัจจุบันเอ็นพีแอลบัตรเครดิตอยู่ที่ 1.2-1.3% โดยกรุงศรีจะต้องสกัดเอ็นพีแอลไม่ให้เพิ่มขึ้น เริ่มควบคุมตั้งแต่ลูกค้ารายใหม่ด้วยการกำหนดสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ที่ 70% สำหรับสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ในส่วนลูกค้าที่มีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อเดือน เริ่มปี 2563 แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังไม่ได้บังคับใช้ แต่วิธีนี้จะสามารถคัดกรองลูกค้าได้ตั้งแต่ต้น สามารถสกัดเอ็นพีแอลได้ดี มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ จะพิจารณาลดวงเงินการกดเงินสดล่วงหน้า (cash advance) ลงจากเดิมที่เคยให้ 100%” นายฐากรกล่าว

นายฐากรกล่าวด้วยว่า คาดว่าจะคัดกรองลูกค้าที่มี DSR เกิน 70% ออกไปราวประมาณ 15% จากที่ยื่นใบสมัครขอสินเชื่อเข้ามา ซึ่งไม่กระทบแบงก์เพราะดูแล้วหากอนุมัติให้กลุ่มนี้ไปอีก 12-24 เดือน ก็มีแนวโน้มกลายเป็นเอ็นพีแอล

นางสาวณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล “กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์” กล่าวว่า ในต้นปี 2563 บริษัทจะใช้ DSR คัดกรองลูกค้ามากขึ้น ซึ่งยอมรับว่าจะทำให้ยอดการอนุมัติสินเชื่อ (approval rate) ปรับลดลงอย่างแน่นอน จากปัจจุบันยอดการอนุมัติสินเชื่อทรงตัวอยู่ในระดับ 40-45%

นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แม้ว่า ธปท.ยังไม่ได้กำหนด DSR อย่างชัดเจน แต่เชื่อว่าทุกแบงก์ก็ต้องปล่อยสินเชื่อโดยพิจารณาจาก DSR ของลูกค้าอยู่แล้ว เพียงแต่จะนำมาใช้วิเคราะห์แค่ไหน เนื่องจากยังต้องแข่งขันด้วย นอกจากนี้ ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว สถานะของลูกค้าหรือผู้กู้ก็มักจะถดถอยไปตามภาวะเศรษฐกิจด้วย จากที่มีการก่อหนี้เร็วไปในช่วงก่อนหน้านี้แต่รายรับไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม

“แม้ว่า ธปท.ไม่ได้กำหนด DSR ออกมาชัดเจน แต่ทุกธนาคารก็ต้องนำหลักการ DSR มาพิจารณาการปล่อยกู้เป็นปกติอยู่แล้วไม่ได้เข้มขึ้น แต่ยอมรับว่าในภาวะที่หนี้ครัวเรือนสูง คนผ่านเกณฑ์การอนุมัติน้อยลงเพราะก่อหนี้ไปเยอะแล้ว แต่รายได้ไม่เพิ่ม” นายวีรวัฒน์กล่าว

นายป้อมเพชร รสานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารธนชาต กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อรถยนต์ของธนชาตเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ทั้งการวางเงินดาวน์และเครดิตสกอริ่ง ซึ่งสามารถคัดกรองลูกค้าได้ดี ขณะที่ DSR ก็มีการพิจารณาว่าจะต้องไม่เกิน 50-70% โดยรถยนต์ใหม่มีสัดส่วนการให้สินเชื่อต่อมูลค่ารถ (LTV) อยู่ที่ 85% และดาวน์ขั้นต่ำ 15% ซึ่งถือเป็นการปล่อยกู้อย่างยั่งยืนและรับผิดชอบ โดยลูกค้าธนชาตส่วนใหญ่สามารถผ่อนชำระได้ตามเงื่อนไข อย่างไรก็ดี หากลูกค้าเริ่มส่งสัญญาณชำระไม่ไหว หรือมีความประสงค์ต้องการแบ่งเบาภาระค่างวดในกรณีจำเป็น ธนาคารก็มีนโยบายช่วยเหลือเป็นรายกรณี