“สมคิด” สั่งออมสิน จับมือ ธปท. คลอดมาตรการอุ้มลูกหนี้ข้าราชการ 1.1 ล้านราย

“สมคิด” สั่งออมสิน จับมือ ธปท. ปรับโครงสร้างหนี้ข้าราชการ พร้อมอุ้มคนชั้นกลาง สั่งดูแลลูกหนี้บัตรเครดิต ด้าน”ชาติชาย” ผอ.แบงก์ออมสินคาดคลอดโครงการปรับโครงสร้างหนี้ข้าราชการได้ภายใน 1 เดือน ส่วนรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตใช้ได้ 1 มี.ค.63

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้ธนาคารออมสิน ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปศึกษาแนวทางเร่งปรับโครงสร้างหนี้ข้าราชการ เนื่องจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี ได้สั่งการให้ธนาคารออมสินทำในกรอบที่เหมาะสม แล้วนำเรียนแนวทางให้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาอนุมัติต่อไป

ส่วนเรื่องดูแลหนี้บัตรเครดิต ก็จำเป็นที่จะต้องออกมาตรการมาดูแล เนื่องจากปัจจุบันประชาชนใช้เกินความจำเป็น บางคนถือบัตรเครดิตมากถึง 9 ใบ ซึ่งหากธนาคารออมสินเข้ามาช่วยลดเรื่องอัตราดอกเบี้ยลงมาได้ก็ขอให้ทำ พร้อมกันนี้ ขอให้ธนาคารออมสินให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยขอให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาทุกจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้าถึงแหล่งทุน และโอกาสในการประกอบอาชีพ

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ข้าราชการนั้น ธนาคารจะเร่งหาข้อสรุปและออกมาใช้ให้ได้ภายใน 1 เดือน เบื้องต้น ธนาคารมีแนวความคิดที่จะขยายระยะเวลาการชำระหนี้ และปรับอัตราดอกเบี้ยในรูปแบบเครดิตเงินคืน (แคชแบ็ก) เพื่อใช้ในการหักเงินต้นให้กับลูกหนี้ข้าราชการที่มีการผ่อนชำระหนี้ดี ซึ่งมีประมาณ 90% ของจำนวนลูกหนี้ข้าราชการที่มีทั้งหมด ส่วนลูกหนี้ข้าราชการที่อยู่ในกลุ่มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ให้กลับเข้าสู่กลุ่มลูกหนี้ชั้นดีก่อน ถึงจะสามารถเข้าสู่กระบวนการข้างต้นได้

สำหรับบุคลากรภาครัฐที่มีสินเชื่อกับธนาคารออมสิน ณ ปัจจุบัน มีอยู่ทั้งสิ้น 1,183,182 ราย เป็นข้าราชการพลเรือน/พนักงานรัฐวิสาหกิจรวม 600,129 ราย คิดเป็น 51% และบุคลากรทางการศึกษา 489,060 ราย หรือคิดเป็น 41% ทหาร 48,052 ราย คิดเป็น 4% และตำรวจ 45,941 ราย หรือคิดเป็น 4% โดยจำนวนดังกล่าวคิดเป็นเงินกู้คงเหลือ 629,138 ล้านบาท เป็นเงินกู้ของข้าราชการพลเรือน/พนักงานรัฐวิสาหกิจ 185,722 ล้านบาท และบุคลากรทางการศึกษา 394,927 ล้านบาท ตำรวจ 28,064 ล้านบาท และทหาร 20,425 ล้านบาท

ขณะที่โครงการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต จะสามารถใช้งานได้ วันที่ 1 มี.ค.63 โดยธนาคารได้เตรียมกรอบวงเงินไว้ 1 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการถึง 1 แสนราย ซึ่งโครงการดังกล่าว จะเป็นการเข้าไปรับรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตจากลูกค้าที่ยังไม่เป็น NPL ที่ปกติผู้ถือบัตรเครดิตมีภาระการผ่อนชำระขั้นต่ำ 10% แต่หากผู้ถือบัตรเครดิตเข้ามารีไฟแนนซ์กับธนาคาร จะได้รับการผ่อนปรนในอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำเพียง 2.5% และขยายระยะเวลากู้นาน 4 ปี ซึ่งจะช่วยลดภาระให้กับลูกค้าที่มีภาระในการผ่อนชะรำหนี้บัตรเครดิตได้เป็นอย่างดี

“ธนาคารยินดีรับลูกค้าที่เป็นหนี้จากบัตรเครดิตทุกแบงก์ แต่เมื่อลูกค้าเข้ามารับรีไฟแนนซ์จะต้องปิดบัตรเครดิตจากธนาคารเดิม และมาเปลี่ยนเป็นเงินกู้ แล้วค่อยๆ ผ่อนปรนหนี้ดังกล่าว โดยวงเงินในการขอเข้าร่วมของผู้ถือบัตรนั้นธนาคารตั้งกรอบไว้ไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งจะให้ดอกเบี้ยพิเศษ เฉลี่ยประมาณ 8.5-10.5% ถือเป็นการคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ หากเทียบกับปกติที่คิดอัตราดอกเบี้ยอยู่ระดับ 19% เชื่อว่าโครงการนี้จะเข้ามาแบ่งเบาภาระผู้ที่เป็นหนี้บัตรเครดิตได้ทั้งการผ่อนและดอกเบี้ย” นายชาติชายกล่าว