เงินบาททรงตัวท่ามกลางความกังวลสถานการณ์ไวรัสโคโรน่า

ภาพ: Dario Pignatelli/Bloomberg via Getty Images

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/2) ที่ระดับ 31.15/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (12/2) ที่ระดับ 31.15/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทและค่าเงินของกลุ่มประเทศเอเชียนั้นได้รับปัจจัยหนุนจากรายงานสถานการณ์โคโรน่าไวรัส ซึ่งเผยออกมาในช่วงเย็นวันนี้ (12/2) ว่าอัตราการเิ่มของจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกมีค่าลดลงเป็นวันแรกหลังจากการแพร่ระบาดเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ช่วงสายวันนี้ (13/2) ทางการจีนได้เปิดเผยวิธีการคำนวณจำนวนผู้ติดเชื้อวิธีใหม่ ซึ่งทำให้รวมจำนวนผู้ติดเชื้อแล้วเพิ่มสูงกว่าวิธีเดิม

นอกจากนั้น นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในการบรรยายพิเศษ การประชุมเชิงปฏิบัติการของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ถึงตัวเลขคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2563 ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 2 ซึ่งปัจจัยกดดันหลักมาจากการแพร่กระจายของไวรัสโคโรน่า โดยคำพูดของนายดอนทำให้ค่าเงินบาทขยับอ่อนค่าเล็กน้อยในช่วงกลางวันวันนี้ (13/2) ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.11-31.21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.11/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐในวันที่สองของงานแถลงรายงานภาพรวมสถิติและมาตรการด้านนโยบายการเงินล่าสุดต่อคณะกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Joint Economic Committee) ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐ

ถ้อยแถลงดังกล่าวมีใจความสำคัญว่า นายพาวเวลล์ยังคงเชื่อมั่นในความยั่งยืนของการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐว่าจะเติบโตอย่างต่อนื่อง และเป็นการตอกย้ำมุมมองของธนาคารกลางสหรัฐว่านโยบายปัจจุบันสำหรับต้นทุนการกู้ยืมระยะสั้นซึ่งถูกกำหนดไว้ที่ร้อยละ 1.5% ถึง 1.75% เป็นจุดที่เหมาะสมในการขยายตัว

นอกจากนั้น นายพาวเวลล์ยังกล่าวถึงดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐว่า ค่าจ้างกำลังเติบโตที่ประมาณร้อยละ 3 ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 3.6 และการเพิ่มขึ้นของตำแหน่งงานมากกว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนพนักงาน รวมถึงได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของหนี้สินรัฐบาลสหรัฐ ที่ในขณะนี้สัดส่วนหนี้สินต่อจีดีพีสหรัฐได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/2) ที่ระดับ 1.0871/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (12/2) ที่ระดับ 1.0915/19 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องจากที่วานนี้ (12/2) สหภาพยุโรปเปิดเผยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรปเดือนธันวาคมออกมาลดลงร้อยละ 2.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 4.1 เทียบกับปีก่อนหน้า

นอกจากนั้นวันนี้ (13/2) ประเทศเยอรมนีเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมกราคม ออกมาลดลงร้อยละ 0.6 เทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 1.7 เทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0871-1.1087 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0885/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/2) ที่ระดับ 109.88/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (12/2) ที่ระดับ 109.92/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เงินเยนยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแม้ว่าประเทศญี่ปุ่นเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ออกมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 เทียบกับปีก่อนหน้า โดยตลาดยังคงกังวลกับการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หลังจากทางการจีนได้เปิดเผยวิธีการคำนวณจำนวนผู้ติดเชื้อวิธีใหม่ ซึ่งทำให้รวมจำนวนผู้ผลิตเชื้อแล้วเพิ่มสูงขึ้นกว่าวิธีเดิม โดยอัตราผู้เสียชีวิตทั่วโลกวันนี้ (13/2) อยู่ที่ 1,357 ราย และผู้ติดเชื้อรวมทั่วโลกอยู่ที่จำนวน 60,375 ราย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.77-109.90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.76/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐเดือนมกราคม (13/2), ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของสหรัฐ เดือนมกราคม (13/2), จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (13/2), ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของเยอรมนี ไตรมาส 4/2562 (14/2), ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมสหภาพยุโรป ไตรมาส 4/2562 (14/2), ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศเยอรมนี ไตรมาส 4/2562 (14/2), ดุลการค้าสหภาพยุโรป เดือนธันวาคม (14/2), ยอดค้าปลีกของสหรัฐเดือนมกราคม (14/2), ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐ (14/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.00/-1.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ อัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือน ต่างประเทศอยู่ที่ +3.20/+4.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัญ