ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังเฟดลดดอกเบี้ยแบบฉุกเฉิน 0.5%

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวขอตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 2-6 มีนาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (2/3) ที่ระดับ 31.50/51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (28/2) ที่ระดับ 31.55/56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลาร์สหรัฐ หลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายฉุกเฉินนอกตารางการประชุมซึ่งกำลังจะถูกจัดขึ้นในวันที่ 17-18 มีนาคม ธนาคารกลางสหรัฐ ได้เปิดเผยรายงานประกอบว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.50 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ กรอบร้อยละ 1.00-1.25 พร้อมทั้งกล่าวเสริมว่า แม้ปัจจุบันปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจสหรัฐยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ทางธนาคารเล็งเห็นถึงความเสี่ยงขาลงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เศรษฐกิจสหรัฐ กำลังเผชิญ ดังนั้น เพื่อสนับสนุนการจ้างงานให้อยู่ในจุดสูงสุดและรักษาเสถียรภาพของราคา คณะกรรมการการเงินมีความเห็นว่าควรมีนโยบายลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยุงเศรษฐกิจ

นอกจากนั้น นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐได้กล่าวเสริมว่า ความรุนแรงและระยะเวลาที่ COVID-19 มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐนั้นมีความไม่แน่นอนสูงและอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นในครั้งนี้ทางธนาคารจึงเห็นว่าควรเข้ามาจัดการทันที และจากนี้ไปทางธนาคารจะจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและปรับนโยบายการเงินให้เหมาะสมต่อไป โดยเครื่องมือทางนโยบายที่น่าจะถูกนำมาใช้ยังคงเป็นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่จะใช้การซื้อขายสินทรัพย์ของธนาคารกลางหรือการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐจะมีประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย กลุ่มประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจโลก 7 ประเทศ (G7) ได้จัดการประชุมทางโทรศัพท์ร่วมกัน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรับ คือนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด พร้อมกับเจ้าหน้าที่อาวุโสจากประเทศญี่ปุ่น เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส แคนาดา และสหราชอาณาจักร เพื่อหารือถึงแนวทางการจัดการกับผลกระทบทางเศรษฐกิจของ COVID-19 ร่วมกัน ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวมีรายงานออกมาว่าธนาคารกลางของทุกประเทศพร้อมใช้เครื่องมือทางนโยบายทั้งด้านการเงินและการคลังเพื่อพยุงเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และยังระบุถึงความร่วมมือจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) อีกด้วย นอกจากนั้นนายสตีเวน มนูชิน ได้ตอบคำถามประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนว่า สหรัฐยังไม่มีนโยบายพิจารณาลดอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศจีน เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

ส่วนปัจจัยภายในประเทศนั้น สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวในการแถลงข่าวโดยคาดว่าการส่งออกไทยปี 2563 อาจติดลบประมาณ 1.5% หลังประเมินครึ่งปีแรกการส่งออกจะหดตัวราว 3.3% ก่อนจะฟื้นตัวขึ้นในครึ่งปีหลังหากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่าคลี่คลายลง ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อการส่งออกและนำเข้าของไทย ภายใต้สมมติฐานว่า การส่งออกไปจีนในเดือน ก.พ.จะติดลบ 75% เดือน มี.ค.หดตัว 50% และช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.ติดลบ 25% โดยผลกระทบดังกล่าวจะทำให้การส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 1/63 หดตัวประมาณ 3.6% และไตรมาส 2 ติดลบราว 2.9% ส่งผลให้ครึ่งปีแรก การส่งออกจะหดตัวประมาณ 3.3%

ขณะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2563 เหลือโต 1.5-2.0% หลังปัจจัยเสี่ยงหลายเรื่องยังไม่คลี่คลาย และมีการกระจายตัวของปัญหามากขึ้น โดยเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา กกร.คาดจีดีพีปีนี้จะขยายตัว 2.5-3.0% ก่อนที่จะปรับลดคาดการณ์เหลือ 2.0-2.5% เมื่อเดือน ก.พ. และปรับลดคาดการณ์อีกครั้งในเดือนนี้ นอกจากนี้ตลาดจับตามองว่าหลังจากการเดินทางกลับมาประเทศไทยของกลุ่มแรงงานไทยที่ไปค้าแรงงานที่ประเทศเกาหลีใต้นั้นจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้นหรือไม่ และจะส่งผลให้ประเทศไทยเข้าสู่การแพร่ระบาดของระยะที่ 3 หรือไม่ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.26-31.67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดวันศุกร์ (6/3) ที่ระดับ 31.42/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

สำหรับค่าเงินยูโรนั้น เปิดตลาดในวันจันทร์ (2/3) ที่ระดับ 1.1060/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/2) ที่ระดับ 1.1044/47 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้เปิดเผยดัชนีอัตราการว่างงานเดือนมกราคมออกมาทรงตัว และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ผลสำรวจพบว่า ธุรกิจในยูโรโซนสามารถต้านทานผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสในเดือน ก.พ. โดยกิจกรรมทางธุรกิจเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 6 เดือน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) แบบคอมโพสิตขั้นปลายของบริษัทไอเอชเอส มาร์กิต เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 51.6 ในเดือน ก.พ.จาก 51.3 ในเดือน ม.ค.

อย่างไรก็ตาม ตลาดจับตาดูการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในวันที่ 12 มีนาคม 2563 ขณะที่นักลงทุนในตลาดเงินคาดว่า มีโอกาส 90% ที่ธนาคารกลางยุโรป จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง 0.10% ในปัจจุบัน ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1001-1.1279 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (6/3) ที่ระดับ 1.1273/75 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยน เปิดตลาดในวันจันทร์ (2/3) ระดับ 107.73/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/2) ที่ระดับ 108.66/69 เยน/ดอลลาร์ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างมาก หลังนักลงทุนเข้าซื้อเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยจากความกังวลด้านการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) ยกระดับการเตือนภัยความเสี่ยงขึ้นสู่ระดับสูงมาก อีกทั้งยังประกาศเพิ่มอัตราการเสียชีวิตจาก COVID-19 เดิมที่ร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 3.4 ซึ่งถ้าเทียบกับกรอบที่เคยประมาณการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2-4 ถือว่าขยับขึ้นมาใกล้กรอบบนมากขึ้น โดยปัจจัยดังกล่าวช่วยกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อเยนในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 105.65-108.57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (6/3) ที่ระดับ 105.77/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ