ธปท.แท็กทีมตลาดทุนส่องเก็งกำไร “บี/อี-บอนด์-กอง FIF”

ธปท.ประสาน 3 หน่วยงาน “ก.ล.ต.-ตลท.-คปภ.” ส่องเก็งกำไรใน “หุ้นกู้ไร้อันดับ-ตั๋วบี/อี-กองทุน FIF” ห่วงนักลงทุนโยกเงินหาผลตอบแทนสูง หนีภาวะดอกเบี้ยต่ำ ตอกย้ำจุดเปราะบางของตลาดเงินตลาดทุน ยอมรับยังมีแรงเก็งกำไรค่าบาทอยู่เป็นระยะ ๆ ระบุเปิดรับฟังคลังเรื่อง “ลดดอกเบี้ย” แจง กนง.พิจารณาหลายปัจจัยก่อนลงมติออกมา

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้พบพฤติกรรมการเก็งกำไรในตลาดเงินตลาดทุน จนอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงและความเปราะบางทางการเงินในอนาคต เช่น ที่ผ่านมา ธปท.เห็นการเข้าไปลงทุนผ่านตลาดตราสารนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับเครดิต (nonrated) หรือการลงทุนผ่านตั๋วแลกเงินระยะสั้น (ตั๋วบี/อี) ที่ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ หรือเข้าไปลงทุนผ่านกองทุนต่างประเทศ (FIF) ที่กระจุกตัวมากจนเกินไป ดังนั้น จึงได้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต., ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อเข้าไปติดตามพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนว่าผิดปกติ หรือมีความเสี่ยงหรือไม่

วิรไท สันติประภพ

ทั้งนี้ ธปท.ได้มีการติดตามพฤติกรรมดังกล่าวมาอย่างใกล้ชิด นอกเหนือจากที่ ธปท.ได้ติดตามพฤติกรรมการโอนเงินบาทระหว่างบัญชีของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (nonresident) เพื่อป้องกันการเก็งกำไรของต่างชาติไปก่อนหน้านี้แล้ว

“เนื่องจากเราอยู่ภายใต้ดอกเบี้ยระดับต่ำมาเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้เกิดพฤติกรรม search for yield (แสวงหาผลกำไร) ที่สูงขึ้น โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงทางการเงินที่ดีพอ ทำให้เกิดความเปราะบางที่ต้องระมัดระวังมาก ซึ่งก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแล หรือออกเกณฑ์ต่าง ๆ เข้ามาดูแล เช่น ก.ล.ต.ก็เข้มมากขึ้นในเกณฑ์การลงทุนต่าง ๆ เช่น การใช้ บจ.ออกไปลงทุน โดยห้ามไปลงทุนพวกที่ไม่มีการจัดอันดับ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญด้านเสถียรภาพทางการเงิน หรือ financial stability ที่ถูกนำไปเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงินด้วย” นายวิรไทกล่าว

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธปท.เริ่มเห็นความเสี่ยงในจุดต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าไปลงทุนในกองทุน FIF ซึ่งกระจุกตัวอยู่ในบางประเทศ เช่น ปัจจุบันมีนักลงทุนไทยหันไปลงทุนในจีนและฮ่องกง เป็นมูลค่าที่มีสัดส่วนค่อนข้างสูง

นายวิรไทยังกล่าวถึงกรณีค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่องว่า ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากยังคงมีเงินทุนจากต่างชาติไหลเข้าไทยต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องของนักลงทุนที่มั่นใจในเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ทำให้นักลงทุนยังเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในไทย นอกจากนี้ไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ส่วนภาวะการเข้ามาเก็งกำไรของนักลงทุนยังเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ซึ่ง ธปท.ก็มีการติดตามอย่างใกล้ชิด

ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังและภาคเอกชนได้แสดงความคิดเห็นเรื่องดอกเบี้ยนั้น นายวิรไทกล่าวว่า ธปท.พร้อมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่เนื่องจากการพิจารณานโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะต้องพิจารณาหลายมิติควบคู่กัน ซึ่งมีทั้งปัจจัยระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงการนำเอาปัจจัยข้างหน้ามาประกอบกัน เพื่อให้เกิดสมดุลในการดำเนินนโยบายการเงิน

“หน้าที่ของธนาคารกลาง สิ่งที่ต้องคำนึงคือเรื่องเสถียรภาพในหลายมิติ ทั้งเสถียรภาพด้านราคา และจะต้องให้แน่ใจว่าปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจเอื้อให้เกิดการฟื้นตัวต่อเศรษฐกิจต่อเนื่อง และเสถียรภาพด้านการเงินไม่ให้เกิดความเสี่ยง หรือเป็นจุดเปราะบางในระยะยาว และนโยบายการเงินมีสองด้านเสมอ ไม่มีอะไรที่ไม่มีต้นทุน มีคนได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของธนาคารกลางที่ต้องชั่งน้ำหนัก ซึ่งเราก็มีคณะกรรมการ กนง.ที่จะต้องพิจารณาตามน้ำหนักต่าง ๆ” นายวิรไทกล่าว