KTC ชี้ TFRS9 ดันกำไรเพิ่ม เร่งตัดหนี้สูญ 400-500 ล้าน

KTC ชี้มาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS9) หนุนกำไรโตกว่าปีก่อน ดันรายได้ดอกเบี้ยเพิ่ม-กดสำรองลด เร่งตัดหนี้สูญเบื้องต้น 400-500 ล้านบาท โชว์ 2 เดือนแรกยอดใช้จ่ายผ่านบัตรโตเกินคาด มั่นใจทั้งปีโตตามเป้า 15% พร้อมเตรียมออกหุ้นกู้ 5-6 พันล้านบาท Q3-Q4 ทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิม กดต้นทุนการเงินลงเหลือ 2.7%

นายชุติเดช ชยุติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส-คอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยว่า มาตรฐานการรายงานทางบัญชี TFRS9 ที่บริษัทเริ่มมาใช้สำหรับงบการเงินตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 นั้น จะสะท้อนพอร์ตทางการเงินที่ดีขึ้น ซึ่งสิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดจะมาจากแนวทางการตัดหนี้สูญที่เข้มข้นกว่ามาตรฐานเดิม แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะเป็นการสะสมเพิ่มขึ้นทุกเดือนในกลุ่มลูกหนี้ Stage 3 (กลุ่ม NPL) แต่พอตามเก็บหนี้มาได้หรือลูกหนี้ที่ถูกตัดหนี้สูญ (Write-off) ก็จะมีการรับรู้รายได้กลับเข้ามา และจะทำให้บริษัทมีกำไรดีขึ้น

เดิมระดับ NPL ของบริษัทอยู่ที่ 1.06% ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 1.1% จากที่มียอดยกมาเมื่อวันที่ 1 ม.ค.63 จำนวน 911 ล้านบาท ซึ่งหนี้เสีย (NPL) จากนี้ไปก็จะเพิ่มขึ้นมาตามระเบียบมาตรฐานบัญชี และจนถึงสิ้นปี NPL จะขยับไปอยู่ในกรอบ 7-9% อย่างไรก็ดีเบื้องต้นคาดว่าบริษัทจะตัดหนี้สูญ (Write-Off) ราว 400-500 ล้านบาท จากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของปีที่แล้วที่อยู่ที่ 6,219 ล้านบาท

“โมเดลเดิมต้องตั้งสำรอง 100% สำหรับ NPL ที่เกิดขึ้น แต่โมเดลใหม่อาจจะตั้งแค่ 80% ที่เหลือเก็บไว้ ก็ทำให้การตั้งสำรองลดลง แม้ว่า NPL จะเกิดใหม่ระหว่างทาง และทยอยเพิ่มขึ้น แต่เราก็จะ Write-Off ออกไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น เดิมบริษัท A ตัดหนี้สูญปีละประมาณ 7-8% คงเหลือ NPL ประมาณ 1% แต่ภายใต้ TFRS9 จะรายงานประมาณ 8-9% ทำให้เห็นว่าตัวเลข NPL ตามมาตรฐานใหม่ดูสูงขึ้น”

สำหรับ 2 เดือนที่ผ่านมาพบว่า ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโตดีกว่าที่คาด เนื่องจากความต้องการใช้เงินของลูกค้าที่มีมากขึ้น มั่นใจว่าปีนี้ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะเติบโตได้ตามเป้าที่ 15% จำนวนบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 350,000 บัตร และพอร์ตสินเชื่อปีนี้จะเติบโตได้ 10% ตามเป้า

“เท่าที่เห็น 2 เดือน ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลมีกำไร ฉะนั้นเป้าหมายปีนี้ยังไม่ได้ปรับ เพราะโมเมนตัมยังดีอยู่ แต่เราเน้นรักษาพอร์ตให้มีคุณภาพ โดยเห็นได้จากยอดการอนุมัติบัตรเครดิตอยู่ที่ 49% ทรงตัวใกล้เคียงจากปีก่อน ในขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลยอดอนุมัติอยู่ที่ 29% ซึ่งเราต้องการคุมไม่ให้เกิน 30% ปัจจุบันพอร์ตลูกค้าบัตรเครดิตประมาณ 65% และอีก 35% เป็นลูกค้าบัตรกดเงินสด ฐานรายได้เฉลี่ยที่ 3-8 หมื่นบาท”

ทั้งนี้คาดว่ากำไรปีนี้จะดีกว่าปีก่อนที่อยู่ 5,524 ล้านบาท หลังจากมีการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเข้ามาจากมาตรฐานบัญชี TFRS9 และทำให้ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองลดลง และการตัดหนี้สูญที่ช้าลงกว่าเดิม

อย่างไรก็ดี ปีนี้บริษัทได้ขออนุมัติวงเงินเพิ่มจากผู้ถือหุ้น 3 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าช่วงไตรมาส 3-4 บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้ประมาณ 5-6 พันล้านบาท เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่ครบกำหนดชำระในช่วงเดือน ส.ค.63 ที่มีหุ้นกู้ครบกำหนด 7 พันล้านบาท ซึ่งช่วยลดต้นทุนการเงิน (Cost of Funds) จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.8% และถ้าหากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 25 มี.ค.นี้ มีมติลดอัตราดอกเบี้ยลงก็จะทำให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลงอีกคาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.7%