คลังเปิดกว้างเข้าถึงซอฟต์โลน ไฟเขียว “โรงรับจำนำรัฐ-ลีสซิ่ง” แบ่งโควตา

แฟ้มภาพ

คลังเปิดทาง “โรงรับจำนำรัฐบาล-ลีสซิ่ง” เข้าถึงโควตาซอฟต์โลน 1.5 แสนล้านบาท กู้ได้ดอกเบี้ยต่ำ 0.01% นำไปปล่อยกู้ลูกค้าต่อ 2% “อุตตม” หนุนสำนักงานธนานุเคราะห์มีเงินทุนไว้รับมือเปิดเทอม ด้าน “โฆษกคลัง” แจงเร่งเคลียร์โควตาตามขนาดพอร์ต-จำนวนลูกค้าที่มีปัญหา หวังช่วยแก้ปัญหาตรงจุด ยันพร้อมเพิ่มวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท หากไม่เพียงพอ

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (ซอฟต์โลน) วงเงิน 1.5 แสนล้านบาทนั้น ไม่เพียงแต่ธนาคารเท่านั้นที่สามารถใช้วงเงินดังกล่าวได้ แต่ในส่วนของสำนักงานธนานุเคราะห์ (โรงรับจำนำของรัฐ) ในกำกับของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็ได้รับอนุมัติให้ใช้เงินซอฟต์โลนนี้ได้ เนื่องจากต้องเตรียมเงินทุนไว้รองรับการให้บริการประชาชนในช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ที่จะถึงนี้ด้วย

“เราร่วมมือกับ พม. โดยในส่วนของสถานธนานุเคราะห์ เราก็ให้มาใช้เงินซอฟต์โลน 1.5 แสนล้านบาทได้ด้วย เพราะเขาก็มีคนไปใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งก็ต้องเตรียมเงินทุนไว้รองรับเปิดเทอม” นายอุตตมกล่าว

นายอุตตมกล่าวอีกว่า การดำเนินการเรื่องซอฟต์โลนนี้ เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการผ่อนคลายเกณฑ์ให้กับสถาบันการเงิน ทำให้กล้าปล่อยสินเชื่อในอัตราที่ต่ำเป็นพิเศษ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบการกู้เงินเพื่อใช้ในกิจการของสำนักงานธนานุเคราะห์ ประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 500 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน รองรับธุรกรรมการรับจำนำของประชาชนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และประกันการขาดสภาพคล่องทางการเงินที่อาจส่งผลต่อการให้บริการประชาชน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2563 จะมีผู้มาใช้บริการประมาณ 1.38 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2562 ประมาณ 40,000 ราย จำนวนเงินรับจำนำประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 588 ล้านบาท

Advertisment

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า สำหรับวงเงินซอฟต์โลน 1.5 แสนล้านบาทนั้น ธนาคารออมสินจะปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0.01% และธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยกู้ต่อให้ลูกค้า คิดอัตราดอกเบี้ย 2% ในช่วง 2 ปีแรก วงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 20 ล้านบาท ซึ่งทางกระทรวงการคลังจะเป็นผู้แบ่งโควตาสินเชื่อในโครงการนี้อีกที

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาโควตาการใช้วงเงินซอฟต์โลน 1.5 แสนล้านบาท เพื่อจัดสรรให้ได้ประโยชน์สูงสุด และเม็ดเงินลงไปแก้ปัญหาได้เร็วที่สุด โดยครั้งนี้จะไม่จัดสรรแบบใครมาก่อนได้ก่อน (first come first serve) เหมือนในอดีต แต่จะพิจารณาตามขนาดพอร์ตลูกค้าของแต่ละสถาบันการเงิน และประเมินว่าแต่ละแบงก์ต้องใช้วงเงินระดับใด

“รอบนี้ เราจะจัดสรรโควตาตามขนาดของพอร์ต ขนาดของปัญหา จะไม่ได้ให้แบบ first come first serve ซึ่งจะพยายามสรุปให้ได้โดยเร็วที่สุด” นายลวรณกล่าว

ทั้งนี้ การจัดสรรวงเงินซอฟต์โลนรอบนี้ ค่อนข้างจะเปิดกว้าง โดยไม่ได้ให้เฉพาะแบงก์เท่านั้น แต่สำนักงานธนานุเคราะห์ก็สามารถขอรับการจัดสรรวงเงินได้ รวมถึงกระทรวงการคลังยังมีการหารือร่วมกับผู้ประกอบการเช่าซื้อ (ลีสซิ่ง) ที่จะเปิดให้เข้ามาขอใช้วงเงินได้ด้วย

Advertisment

“รอบนี้ ถ้าจัดสรรไปแล้ว ผ่านไป 2-3 เดือน แบงก์ไหนไม่พอ หรือแบงก์ไหนใช้ไม่ได้ตามเป้า เราก็จะเกลี่ยโควตากันใหม่ รวมถึงหากวงเงิน 1.5 แสนล้านบาทไม่เพียงพอ ก็จะพิจารณาเสนอให้มีการขยายวงเงินก่อนที่วงเงินจะหมดด้วย” นายลวรณกล่าว