เงินบาท​อ่อนค่าที่​ 32.65 บ./ดอลลาร์​ จับตา​ผลประกอบการ​บจ.ทั่วโลก-เฟดให้ข้อมูล​ศก.​วันนี้​

แฟ้มภาพ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักวิเคราะห์ตลาดการเงินและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ เปิดเผย​ว่า​ ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้​ (16​ เม.ย.)​ ที่ระดับ 32.74 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 32.65 บาทต่อดอลลาร์ ส่วน​กรอบเงินบาทวันนี้คาดเคลื่อนไหว​ระหว่าง​ 32.65-32.85 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้น​ S&P500 ของสหรัฐ ปรับตัวลง 2.2% ขณะที่ Euro Stoxx 600 ของยุโรป​ร่วงลงตามถึง 3.2% เพราะนักลงทุนกลับมากังวลกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ล่าสุดชี้ว่าผลของการควบคุมาการระบาดของไวรัส ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอาจต้องเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ดี พันธบัตรรัฐบาลของประเทศปลอดภัยทั่วโลกยังพึ่งพาได้ โดยอัตรา​ผลตอบแทน​ (ยีลด์)​ สหรัฐและเยอรมันอายุ 10ปี ปรับตัวลงทันที 8-11bps มาที่ระดับ 0.64% และ -0.47% ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าตลาดยังคงเชื่อมั่นในเหล่าประเทศใหญ่ สวนทางกับบอนด์ยีลด์ของบราซิลและอิตาลีที่ปรับตัวขึ้น 10-20bps

ดร.จิ​ติ​พล​ กล่าว​ว่า​ ความเคลื่อนไหวดังกล่าว เป็นบวกกับค่าเงินดอลลาร์มากที่สุด ส่งผลให้ Dollar Index ปรับตัวขึ้น 0.8% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นวันเดียวมากที่สุดในช่วงเดือนที่ผ่านมา และสกุลเงินผันผวนสูงอย่าง ดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) รูเบิลรัสเซีย (RUB) และแรนด์แอฟริกาใต้ (ZAR) เป็นสามสกุลเงินหลักที่ปรับตัวลงวันเดียวเกินกว่า 2.0%

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์

สำหรับวันนี้ ประเด็นที่ต้องติดตามต่อคือการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก ซึ่งจะกดดันตลาดทุนต่อเนื่อง​ ขณะเดียวกัน ก็มีกำหนดการที่คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด จะออกมาให้ข้อมูลเศรษฐกิจและชี้แจงการรักษาเสถียรภาพของตลาดการเงินเป็นตัวประคองไว้

Advertisment

จุดที่น่าสนใจคือราคาน้ำมันดิบ WTI ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบกว่า 20 ปี โดยเชื่อว่า เป็นตัวแปรเบื้องต้นที่สามารถนำมาใช้ชี้วัดทิศทางของสินทรัพย์ทางการเงินสำหรับกรณีที่ผู้กำหนดนโยบายไม่สามารถประคองตลาดไว้ได้

“ฝั่งของเงินบาท ระยะสั้นยังคงไม่มีสภาพคล่องมาก เนื่องจากการซื้อขายของทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออกยังไม่กลับมา ขณะที่นักลงทุนต่างชาติก็ทยอยขายสินทรัพย์ในไทยต่อเนื่องแม้บอนด์ยีลด์จะปรับตัวลดลงบ้างแล้ว ในช่วงนี้เรายังคงมองว่าทิศทางของตลาดทุนเอเชีย เป็นปัจจัยหลักในการกำหนดทิศทางของเงินบาท”  ดร.จิ​ติ​พล​กล่าว​