ดอลลาร์แข็งค่า หลังนักลงทุนกังวล COVID-19 รอบใหม่

ดอลลาร์สหรัฐ
REUTERS/Marcos Brindicci/File Photo

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/6) ที่ระดับ 31.00/02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (12/6) ที่ระดับ 30.97/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์ปรับตัวในทิศทางแข็งค่า หลังเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในคืนวันศุกร์ (12/6) โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของสหรัฐ ขยายตัวสู่ระดับ 78.9 ในเดือนมิถุนายน จากระดับ 72.3 ในเดือนพฤษภาคม อีกทั้งยังสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 75.0 ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวขึ้นโดยได้แรงหนุนจากการเปิดทำการเศรษฐกิจครั้งใหม่ หลังจากที่รัฐบาลใช้มาตรการล็อกดาวน์ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังคงหันเข้าถือค่าเงินดอลลาร์ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสอง หลังจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น โดยล่าสุดจีนเริ่มมีคำสั่งล็อกดาวน์พื้นที่บางส่วนในกรุงปักกิ่งแล้ว ในทางกลับกันทางสหรัฐ นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าสหรัฐจะไม่กลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างแน่นอนเนื่องจากมองว่าจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่า

ทั้งนี้นักลงทุนติดตามฟังแถลงการณ์จากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจ, อัตราเงินเฟ้อ, ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ รวมทั้งผลกระทบจากาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจ โดยจะกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อทางคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันพรุ่งนี้ และจะแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริหารการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธนี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.92-31.08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.04/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/6) ที่ระดับ 1.1249/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/6) ที่ระดับ 1.1313/15 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรอ่อนค่าจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในคืนวันศุกร์ (12/6) เผยข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซน หดตัว 17.1% ในเดือนเมษายนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ภาวะธุรกิจชะงักทั้งภาคการลิตและการก่อสร้างของยุโรป

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนติดตามการเจรจาในการขยายเส้นตายของการแยกตัวของอังกฤษออกจากยูโรโซน (Brexit) และข้อตกลงทางการค้าที่จะมีการพูดคุยกันในวันนี้ระหว่างสหภาพยุโรปและอังกฤษ โดยที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีของอังกฤษนายบอริส จอห์นสัน ตัดสินใจไม่ขอขยายเวลาช่วงเปลี่ยนผ่านและจะนำอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปตามกำหนดการเดิม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1228-1.1268 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1266/68 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/6) ที่ระดับ 107.28/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/6) ที่ระดับ 107.42/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นหลังนักลงทุนหันเข้าซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสอง หลังจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น สหรัฐรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นใน 22 รัฐในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ในขณะที่จีนรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 57 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 2 เดือน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.00-107.56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.30/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดดุลบัญชีเดินสะพัดของยูโรโซน เดือนเมษายน (15/6), รายงานดัชนีการผลิตรัฐนิวยอร์ก เดือนมิถุนายน (15/6), ดัชนียอดค้าปลีกของสหรัฐ เดือนพฤษภาคม (16/6), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐ เดือนพฤษภาคม (16/6), ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ZEW ของเยอรมนีเดือนมิถุนายน (16/6), ดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนี เดือนพฤษภาคม (16/6), การเปลี่ยนแปลงในจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของอังกฤษ เดือนพฤษภาคม (16/6), การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของญี่ปุ่น (BOJ) (16/6), จำนวนใบอนุญาตก่อสร้างของสหรัฐ เดือนพฤษภาคม (17/6), ดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซน เดือนพฤษภาคม (17/6), ดัชนีราคาผู้บริโภคของอังกฤษ เดือนพฤษภาคม (17/6), ใบอนุญาตจำนวนบ้านสร้างใหม่ของสหรัฐเดือนพฤษภาคม (17/6), การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของอังกฤษ (BOE) (18/6), จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (18/6), รายงานดัชนีการผลิตรัฐฟิลาเดเฟีย เดือนมิถุนายน (18/6), ดัชนียอดค้าปลีกของอังกฤษ เดือนพฤษภาคม (19/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.30/-0.10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.50/0.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ