พิษไวรัส “กอง FIF” หด 16% บลจ.หวังครึ่งปีหลังกองทุนรวมฟื้น

ส่องกอง FIF เงินไหลออกต่อเนื่อง “TMB Analytics” เผยตั้งแต่ต้นปีมามูลค่าการลงทุน FIF หดตัวแล้ว 16.2% “โควิด-19” ทุบซ้ำ-นักลงทุนแห่ถือเงินสด ชี้เป็นแรงหนุน “บาทแข็ง” เหตุฟันด์โฟลว์ไหลกลับเข้าประเทศต่อเนื่อง ฟากนายกสมาคม บลจ.ระบุปัจจุบันเม็ดเงินลงทุนเริ่มไหลกลับเข้ากองทุนในประเทศโดยเฉพาะกองบอนด์ คาดครึ่งปีหลังสถานการณ์กองทุนฟื้นตัวชัดเจนขึ้น

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงที่ผ่านมาแนวโน้มการลงทุนกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ทุกประเภทชะลอตัวลง โดยมูลค่าการลงทุน ณ เดือน พ.ค. 2563 อยู่ที่ 8.45 แสนล้านบาท ลดลงไป 16.2% จากสิ้นปี 2562 ที่ผ่านมา โดยสัดส่วนการลงทุนปีนี้ลดลงมาอยู่ที่ราว 17% เมื่อเทียบกับการลงทุนในกองทุนรวมในประเทศ จากปีที่แล้วมีสัดส่วนอยู่ที่ 19% ซึ่งน่าจะเกิดจากการที่นักลงทุนหันกลับมาถือเงินสดกันมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีเงินไหลกลับเข้าประเทศโดยการที่ค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้นช่วงที่ผ่านมา ก็มาจากปัจจัยการลงทุนกอง FIF ที่ชะลอตัวด้วยส่วนหนึ่ง

“ปีที่แล้วกอง FIF ภาพรวมทั้งปีหดตัว 4.6% แต่มาปีนี้ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือน พ.ค.หดตัวไป 16.2% โดยทิศทาง FIF ย่อตัวลงมาอย่างต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ขณะที่ภาพรวมของตลาดกองทุนรวม (total Thai mutual fund) ปีที่แล้วทั้งปีโต 6.6% มาปีนี้ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือน พ.ค.หดตัวไป 10.7% คือเงินไหลออกจากกอง FIF มากกว่ากองในประเทศ ซึ่งหลัก ๆ ก็มาจากกองตราสารหนี้ (FIFFIX) ที่ลดลงไปมากถึง 25.5% ส่วนกองหุ้น (FIFEQ) หดตัวไป 8.4% นับจากต้นปีมา” นายนริศกล่าว

นายนริศกล่าวว่า แนวโน้มระยะข้างหน้ากอง FIF ยังมีโอกาสหดตัวได้อีก เนื่องจากช่วงที่่ผ่านมาราคาพันธบัตรเพิ่มขึ้นมาค่อนข้างมากแล้ว ซึ่งน่าจะส่งผลให้มีเงินไหลกลับเข้าประเทศอีกอย่างต่อเนื่อง

“หลังจากที่ช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มีเงินไหลเข้าไปอยู่ในบัญชีเงินฝากสูงถึง 5 แสนล้านบาท ช่วงนี้เริ่มเห็นกระแสเงินลงทุน (ฟันด์โฟลว์) ไหลกลับไปเข้ากองทุนรวมในประเทศมากขึ้น แต่ไม่ใช่กลับไปเข้ากอง FIF” นายนริศกล่าว

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย และในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) กล่าวว่า เริ่มเห็นแนวโน้มกระแสเงินลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในกองทุนมากขึ้น โดยนอกเหนือจากการลงทุนผ่านกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) แล้วนั้น ส่วนใหญ่ไหลเข้าลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก

ขณะที่กองทุนรวมที่มีส่วนผสมการลงทุนระหว่างตราสารหนี้ภาครัฐกับภาคเอกชน พบว่าเงินยังไหลกลับเข้ามาไม่มากนักแต่ถือว่าฟื้นตัว นอกจากนี้ กองทุนประเภทที่มีอายุโครงการ (term fund) รวมถึงกองทุน Fixed Maturity Portfo-lio (FMP) ซึ่งมีลักษณะการลงทุนคล้ายกับเทอมฟันด์ แต่มีการกำหนดอายุโครงการ 1-3 ปี เริ่มมีเงินไหลกลับเข้ามาลงทุนเช่นกัน ส่วนกองทุน FIF พบว่าปริมาณเงินที่กลับเข้าลงทุนยังทรงตัว

“เราประเมินว่าการลงทุนน่าจะพอขยับไปอีกสักระยะ จากที่ผ่านมาพอตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นดีมาก นักลงทุนจึงไปซื้อหุ้นกันเองโดยตรง แต่หลังจากนี้กองทุนที่มีส่วนผสมการลงทุนเอกชน

น่าจะได้รับการตอบรับดีขึ้น ทั้งนี้ เชื่อว่าสถานการณ์กองทุนเริ่มกลับมาเข้าที่เข้าทางแล้ว และในไตรมาส 3 กับ 4 ที่เหลือน่าจะเห็นการลงทุนที่มากขึ้นกว่าเดิม” นายวศินกล่าว

นายพิพัฒน์ พิศณุวงรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายจัดการลงทุน บลจ.ทหารไทย (TMBAM Eastspring) กล่าวว่า การลงทุนในตลาดกองทุนรวมครึ่งปีหลังคาดว่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้น แต่คงจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามภาวะของการปลดล็อกดาวน์ของแต่ละประเทศ รวมไปถึงมาตรการทางการคลังขนาดใหญ่และมาตรการทางการเงินของหลายประเทศทั่วโลกที่จะมีส่วนช่วยประคับประคองเศรษฐกิจและลดความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะค่อย ๆ กลับมาได้

“เหตุการณ์ที่ยังประเมินได้ยาก คือ การระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วทั้งโลก แม้ว่าไทยจะรับมือได้ค่อนข้างดีก็ตาม เนื่องจากตลาดเงินของไทยปัจจุบันใช้เงินทุนจากต่างประเทศค่อนข้างสูง ดังนั้น เมื่อนักลงทุนต่างชาติมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าออก ไม่ว่าจะเป็นในฝั่งของตลาดหุ้นหรือตลาดตราสารหนี้ก็จะมีผลกระทบตามมาได้ อย่างไรก็ดี เราเห็นแนวโน้มว่าธนาคารกลางของหลายประเทศมีการระดมใส่สภาพคล่องเข้ามาในตลาดการเงินของโลก จึงน่าจะเป็นตัวช่วยสนับสนุนเพื่อลดความผันผวนของตลาดการเงินในระยะข้างหน้า” นายพิพัฒน์กล่าว