KKP ขยับต้นทุนการเงินปี’63 แตะ 2.5% ลั่นคงเป้าสินเชื่อโต-คุมหนี้เสียไม่เกิน 3.9%

“กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร-KKP” ปรับกรอบเป้าหมายธุรกิจปี 63 เชื่อผลกระทบโควิดยังไม่สิ้นสุดหลังมาตรการพักหนี้จบ เร่งตั้งสำรองเต็มที่ดัน Credit Cost เพิ่มจาก 1.40-1.60% มาอยู่ที่ 2.5% พร้อมลด ROA จาก 13-15% เหลือ 10% ส่วนสินเชื่อยังโต 7-9% เอ็นพีแอลกดไม่เกิน 3.9% ลั่น ครึ่งปีหลังเน้นโตแบบคุณภาพ-รุกธุรกิจตลาดทุนต่อเนื่อง

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่าธนาคารได้มีการปรับกรอบเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในปี 2563 ในบ้างส่วน โดยอัตราการขยายตัวสินเชื่อยังคงเป้าหมายเดิมทั้งปีอยู่ที่ 7-9% แต่ในช่วงครึ่งปีแรกสินเชื่อขยายตัวเพียง 5% ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากมาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งหากไม่นับมาตรการ จะเห็นว่าสินเชื่อไม่ขยายตัวเลย เนื่องจากไม่สามารถปล่อยสินเชื่อรายย่อยได้เลย ขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ธนาคารพยายามให้อยู่ในกรอบ 3.9% โดยในครึ่งปีแรกทำได้ดีกว่าคาดอยู่ที่ 3.4%

ขณะที่ต้นทุนการเงิน (Credit Cost) หลังพักชำระหนี้ครบกำหนด จะเริ่มเห็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจริง โดยเป้าหมายเดิมอยู่ที่ 1.40-1.60% ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 2.32% ธนาคารจึงปรับกรอบเป็น 2.5% นอกจากนี้ธนาคารยังมีการปรับกรอบอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) จากกรอบเดิมอยู่ที่ 13.0-15.0% แต่ในครึ่งปีแรกอยู่ที่ 11.1% จึงปรับลงมาอยู่ที่ 10% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Loan Spread) เป้าเดิม 4.6-4.8% มาอยู่ที่ 5.0-5.2% จากครึ่งปีแรกอยู่ที่ 5.7%

สำหรับแนวโน้มธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 จะเห็นว่ากลุ่ม KKP ค่อนข้างมีพอร์ตธุรกิจกระจาย ไม่เน้นหนักสินเชื่อธนาคารอย่างเดียว แม้ว่าโควิด-19 จะกระทบสินเชื่อธนาคาร แต่โชคดีที่มีธุรกิจตลาดทุนเข้ามาช่วยชดเชย โดยธนาคารจะหันมามุ่งเน้นเรื่องการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) มากขึ้น จากปัจจุบันมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) อยู่ที่ 5.7 แสนล้านบาท

“ธุรกิจตลาดทุนไม่ได้ถูกกระทบมากเท่าที่มีการประเมินผลไว้ เช่น มูลค่าพื้นฐาน กำไร ซึ่งสามารถยืนอยู่ได้ และกิจกรรมหรือธุรกรรมยังมีอยู่ในมือเยอะ เช่น การเสนอขายหุ้นใหม่ให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือ IPO ที่มีเยอะแต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วย

นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า สินเชื่อของธนาคารในครึ่งปีแรก 2563 มีการขยายตัวที่ 5% โดยมาจากการขยายตัวในสินเชื่อเกือบทุกประเภท (ยกเว้นสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อลอมบาร์ด) ไม่ว่าสินเชื่อรายย่อยขยายตัว 5.5% สินเชื่อธุรกิจ 3.5% และสินเชื่อบรรษัท 8.9% โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยกลุ่มเช่าซื้อรถยนต์นั้น มีอัตราการเติบโต 6% ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการขยายฐานตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ไปสู่กลุ่มที่มีคุณภาพทรัพย์สินดีขึ้นในจังหวะที่มีผู้เล่นบางส่วนถอยออกจากตลาด และในตลาดเองก็มีกระแสความต้องการรถยนต์ใช้แล้วเพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากการหลีกเลี่ยงระบบขนส่งสาธารณะและราคาที่อาจดูน่าดึงดูดใจมากขึ้นในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจสูง

นอกจากนั้น การขยายตัวของสินเชื่อส่วนหนึ่งยังเป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 เช่นการพักชำระหนี้ ซึ่งทำให้ยอดสินเชื่อไม่ถูกปรับลดลง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์โดยทั่วไปยังไม่แน่นอน และมาตรการช่วยเหลือทางการเงินในปัจจุบันอาจทำให้คุณภาพของสินเชื่อหรือเครดิตยังไม่สะท้อนความเป็นจริงอย่างเต็มที่ ธนาคารจึงได้มีนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่ระมัดระวัง อีกทั้งยังได้ตั้งสำรองสำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) สำหรับไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 เป็นจำนวนถึง 744 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 21.9% จากไตรมาสเดียวกันปีที่แล้วเพื่อเป็นความคุ้มกันเพิ่มเติม ส่งผลให้ธนาคารมีอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ 128.7%

“ไตรมาสที่ 2 เราใช้เวลาช่วยลูกค้าเป็นส่วนมาก โดยเฉพาะในเดือนพ.ค.เรามีระบบช่วยลูกค้ารายย่อยให้สามารถเข้าโปรแกรมพักชำระหนี้ได้ง่ายขึ้น โดยตอนนี้มีลูกค้าเข้าโครงการแล้วประมาณ 30% และก็มีบ้างส่วนที่ออกจากโปรแกรมบ้าง ในระยะต่อไปเราจะเน้นปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกันมากขึ้น เพื่อความระมัดระวัง เพื่อหลังโควิดจบเราจะพร้อมกลับมาทันที”

นายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณและประธานสายตลาดการเงิน ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า ผลการดำเนินงานงวดครึ่งปีแรก 2563 ว่า “กลุ่มธุรกิจฯ มีกําไรสุทธิไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่ากับ 2,668 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยที่ 1.1% จากงวดเดียวกันของปี 2562 เป็นกําไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน ซึ่งดําเนินการโดยบริษัท ทุนภัทร จํากัด (มหาชน) และบริษัทย่อย จํานวน 775 ล้านบาท มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จำนวน 7,154 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.8% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ อยู่ที่ 2,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และรายได้อื่น 1,133 ล้านบาท รวมเป็นรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 10,446 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.8% จากงวดเดียวกันของปี 2562

ในด้านคุณภาพของสินเชื่อ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาสที่สองปี 2563 อยู่ที่ 3.4% ปรับลดลงจาก ณ สิ้นปี 2562 ที่อยู่ที่ 4.0% ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คํานวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งหากรวมกำไรถึงสิ้นไตรมาส 2 ปี 2563 จะอยู่ที่ 17.76% โดยเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 13.7%