ประกันตีปีก รับเกณฑ์ลงทุนกิจการโรงพยาบาล

เครื่องฟังของแพทย์

คปภ.จ่อขยายเกณฑ์เปิดทางบริษัทประกันลงทุน “โรงพยาบาล” ตีกรอบเฉพาะ “รพ.ทั่วไปเฉพาะทางไซซ์กลาง”ขนาดตั้งแต่ 31 เตียงขึ้นไป-ถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 20% “กรุงเทพประกันชีวิต”รับสนใจขยายลงทุนเร่งศึกษาหาพันธมิตร เล็งทำเลทองเขต “อีอีซี”คาดการณ์เตรียมเม็ดเงินลงทุน 600-700 ล้านบาท ฟาก “ไทยประกันชีวิต” เน้นกระจายถือหุ้นโรงพยาบาลหลายแห่ง ชี้ช่วยลดความเสี่ยงได้ดีกว่า

นายสมประโชค ปิยะตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คปภ.ได้ส่งหนังสือเวียนถึงสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อให้แจ้งขอความร่วมมือบริษัทสมาชิกในการให้ความเห็นต่อกฎหมายลูกที่ทาง คปภ.จะเปิดให้บริษัทประกันภัยเข้าไปถือหุ้นในนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้น เพื่อประกอบกิจการสถานพยาบาลในประเทศไทย โดยกำหนดให้ส่งข้อมูลตอบกลับมาให้ คปภ. ภายในวันที่ 21 ส.ค.นี้ เพื่อสรุปเสนอ เลขาธิการ คปภ. พิจารณาเห็นชอบต่อไป

สำหรับเกณฑ์ดังกล่าว บริษัทประกันต้องลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลเฉพาะทางที่มีขนาดกลางขึ้นไปเท่านั้น ขนาดตั้งแต่ 31 เตียงขึ้นไป โดยต้องลงทุน หรือถือหุ้นไม่ต่ำกว่า20% ของหุ้นที่ออกจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด รวมถึงบริษัทประกันต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) ก่อนการถือหุ้นติดต่อกัน 4 ไตรมาสล่าสุด ไม่ต่ำกว่า 140% และต้องดำรง CAR ไม่ต่ำกว่า 140% ตลอดเวลาที่ถือหุ้น

นอกจากนี้ ต้องมีอัตราส่วนสินทรัพย์ลงทุนต่อเงินสำรองประกันภัยก่อนการถือหุ้นติดต่อกัน 4 ไตรมาสล่าสุด ไม่ต่ำกว่า 110% และต้องไม่ต่ำกว่าระดับดังกล่าวตลอดระยะเวลาที่ถือหุ้น รวมทั้งมีการจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัย ตลอดจนต้องมีเงินกองทุนส่วนเกินไม่น้อยกว่ามูลค่าที่ลงทุนในหุ้นทุกนิติบุคคลรวมกัน

“ส่วนการถือหุ้นในสถานกิจการสำหรับดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ขณะนี้ยังต้องรอกฎกระทรวง จากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข มีผลบังคับใช้ก่อน เพื่อนำมาเป็นตัวกำหนดเกณฑ์ต่าง ๆ”

Advertisment

ม.ล.จิรเศรษฐ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่บริษัทจะหาพันธมิตรโรงพยาบาล เพื่อร่วมลงทุนทำธุรกิจจัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นมา โดยเฉพาะโรงพยาบาลเฉพาะทาง ในเขตโครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะมีบริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลให้มีประชากรเพิ่มจำนวนมาก จึงถือเป็นทำเลที่เหมาะสมในการลงทุนในระยะยาว โดยประเมินว่าอาจต้องเตรียมเม็ดเงินลงทุนไว้ราว 600-700 ล้านบาท

“ตอนนี้ต้องศึกษาให้รอบคอบก่อน โดยพิจารณาทั้งผลตอบแทนในอนาคต หรือภาวะการแข่งขันในตลาดด้วย เพื่อไม่ให้กระทบต่อรายได้ธุรกิจหลัก อย่างไรก็ตามจากผลกระทบโควิด-19 ธุรกิจโรงพยาบาลมีรายได้หายไปมาก แต่ยังมีโรงพยาบาลบางแห่งที่ต้องการขยายกิจการ แต่ไม่มีเงินทุน ฉะนั้นหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ก็เป็นโอกาสที่บริษัทจะเข้าไปเป็นผู้สนับสนุนแหล่งทุนสำหรับโรงพยาบาลที่มีศักยภาพเติบโตได้” ม.ล.จิรเศรษฐกล่าว

นางวรางค์ ไชยวรรณ กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บมจ.ไทยประกันชีวิต กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทยังไม่มีแผนลงทุนในหุ้นโรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่งจนถึงสัดส่วน 20% ตามเกณฑ์ใหม่ แต่ที่ผ่านมาบริษัทได้มีการลงทุนในหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลมาอย่างต่อเนื่อง

“เชื่อว่ากลุ่มโรงพยาบาลยังเป็นธุรกิจที่สำคัญและน่าสนใจในการลงทุน แต่การกระจายการลงทุนในโรงพยาบาลหลาย ๆ แห่ง น่าจะช่วยลดความเสี่ยงได้ดีกว่า และถึงแม้บริษัทไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนที่สูง แต่ก็สามารถเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับโรงพยาบาลเอกชนต่าง ๆ ได้ เหมือนที่ทุกวันนี้ก็มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการร่วมกัน”

Advertisment