อีไอซี ชี้ โควิดสร้าง 3 แผลเป็นเศรษฐกิจไทยปี 63 หดตัว -7.8%

อีไอซี ปรับลดประมาณการจีดีพีปี 63 หดตัว -7.8% จาก -7.3% มองโควิด-19 ฝากแผลเป็น 3 ด้าน กระทบการว่างงานพุ่ง 7.4% จากไตรมาส 2 การว่างงานสูงในรอบ 11 ปืระดับ 2% เผยสัญญาณการปิดกิจการพุ่ง-หนี้ครัวเรือนไต่ระดับเพิ่มเป็น 88% จากต้นปี 80% ชี้ ภาครัฐเร่งดูแลแรงงาน 2.5 ล้านคน

วันที่ 14 กันยายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า อีไอซีได้ปรับประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2563 จากหดตัว -7.3% มาอยู่ที่ -7.8% ตัวเลขเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 (Bottomed out) ตามการผ่อนคลายของมาตรการปิดเมือง

โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ การหดตัวที่ลดลงของภาคส่งออกสินค้า ตลอดจนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งมีส่วนช่วยประคับประคองการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี เครื่องชี้วัดเร็วที่อีไอซีติดตามบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยเฉพาะปัจจัยด้านการท่องเที่ยวยังซบเซา ส่งผลให้อีไอซีปรับประมาณการนักท่องเที่ยวเหลือ 6.7 ล้านคน คิดเป็นการหดตัว -83% แม้ว่าการท่องเที่ยวในประเทศจะฟื้นตัวขึ้นบ้าง แต่ยังกระจุกตัวในพื้นที่ใกล้ๆ ส่วนหนึ่งมาจากคนยังกลัวการขึ้นเครื่องบิน และการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การเดินทางผ่านสนามบิน 22 แห่งยังคงหดตัว -32%

นอกจากนี้ ประเด็นที่ต้องจับตาเม็ดเงินช่วยเหลือจากภาครัฐภายใต้ พรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทที่มีแนวโน้มเข้าสู่เศรษฐกิจในปีนี้น้อยกว่าที่คาด (ประมาณ 5 แสนล้านบาท จากเดิมที่คาดประมาณ 6 แสนล้านบาท) รวมถึงเม็ดเงินช่วยเหลือที่จะน้อยลงมากในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งทำให้เกิดปัญหาหน้าผาทางการคลัง (Fiscal cliff) และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนบางกลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลือต่อเนื่อง
และความเสี่ยงด้านต่ำที่จะเป็นแผลเป็นต่อเศรษฐกิจไทยจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีอยู่ 2-3 เรื่อง คือ

1.การปิดกิจการ โดยที่ผ่านมาจะเห็นว่าอัตราการเปิดกิจการใหม่ลดลง –13% และการปิดกิจการเพิ่มเป็น 38.4% ส่งผลต่อการจ้างงานและการลงทุน โดยเฉพาะเซ็กเตอร์ โรงแรม สิ่งทอ และยานยนต์ ซึ่งหากมองในระยะข้างหน้าปัญหาหนี้เสียเร่งตัวจากมาตรการพักชำระหนี้จบลง จะเร่งให้การปิดตัวกิจการมีมากขึ้น

2.ความเปราะบางตลาดแรงงาน จากตัวเลขพบว่าปัญหาว่างงานเกิดกับคนอายุน้อยเฉลี่ย 15-24 ปี ที่มีอยู่กว่า

3 แสนคน และในจำนวนดังกล่าวประมาณ 60% หรือราว 2 แสนคนไม่มีประสบการณ์การทำงาน และยังมีกลุ่มที่ทำงานอยู่ แต่ยังมีชั่วโมงการทำงาน 0 หรือกลุ่มที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงมีเพิ่มขึ้น ซึ่งมีตัวเลขรวมกันกว่า 2.5 ล้านคน และมีคนย้ายแรงงานเข้าสู่ภาคเกษตรอีก 7 แสนคน ดังนั้น หากคิดรวมกันอัตราการว่างงานจะสูงถึง 7.4% มากกว่าตัวเลขไตรมาสที่ 2/63 ที่อัตราว่างงานอยู่ที่ 2% สูงสุดในรอบ 11 ปี ซึ่งจะทำอย่างไรให้แรงงานกลับมาได้มากน้อยแค่ไหน

และ 3.ปัญหาหนี้ครวเรือนจากต้นปีสัดส่วนภาคระหนี้ต่อจีดีพีอยู่ที่ 80% ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 88-89% ต่อจีดีพี ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากรายได้ที่หดตัว และในจำนวนนี้กันชนทางการเงินไม่พอมีมากกว่า 60% ที่มีเงินใช้ได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนจะเป็นไปอย่างช้าๆ โดยมองว่าการบริโภคเอกชนจะหดตัว -2.3%

“ในไตรมาสที่ 2 เศรษฐกิจถือว่าต่ำสุดในรอบ 22 ปี ที่หดคัว -12.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ปี 2551 ที่ -12.5% แต่หากมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงแผลเป็นที่เกิดจากโควิด ทั้งในเรื่องตลาดแรงงาน และการท่องเที่ยวยังซบเซา ซึ่งเป็นรายได้หลักของไทย คิดเป็น 18% ของจีดีพี และหากมีการระบาดรอบ 2 จนเกิดล็อกดาวน์ที่เข้มข้นอีก เรามองว่ากรณีเลวร้ายสุดจีดีพีจะหดตัว -11-12% ได้”

ดร.ยรรยง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับนโยบายการเงิน ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% จนถึงสิ้นปี และพร้อมใช้เครื่องมือต่าง ๆ รวมถึงมาตรการ Unconventional เพิ่มเติมหากมีความจำเป็น ภาวะการเงินโดยรวมมีแนวโน้มตึงตัวน้อยลง หลังจากที่ ธปท.
ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและลดค่าใช้จ่ายให้แก่ครัวเรือนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการพักการชำระหนี้ชั่วคราว

ตลอดจนการทำมาตรการเพิ่มเติมโดยใช้งบดุล (Balance Sheet) ของธปท. เช่น มาตรการ QE ที่ทำในเดือนมี.ค.-เม.ย.ที่เข้าไปซื้อพันธบัตร เพื่อไม่ให้ยีลด์กระโดดขึ้นสูง หรือการดึงบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรม (บสย.) เข้ามาใช้มากขึ้น หรือการทำให้สินทรัพย์ไม่ด้อยค่าเร็วเกินไป โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่เกิดจากการปิดกิจการ เป็นต้น

ขณะที่ทิศทางค่าเงินบาท อีไอซียังคงมุมมองอัตราแลกเปลี่ยน ณ สิ้นปี 2563 จะอยู่ในช่วง 30.5-31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นทิศทางแข็งค่าเล็กน้อยจากปัจจุบัน เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามการพื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของ Fed และการดำเนินนโยบายการคลังที่มีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้นของสหรัฐฯ อีกทั้งเงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลเข้าตลาด EM รวมถึงตลาดการเงินไทยในระยะต่อไป

อย่างไรก็ดี ด้วยดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่เกินดุลลดลงมากจากดุลบริการที่หายไปตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่หดตัวในระดับสูง ทำให้เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐจะไม่แข็งค่าขึ้นมากนัก

“มาตรการพักหนี้หากทำนานเกินไปจะมีผลกระทบวงกว้าง เช่น เกิดพฤติกรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้น การช่วยเหลือต้องดูเป็นรายๆ ไป โดยมองว่ามาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องจะตรงจุดมากกว่า หรือมาตรการมารองรับการว่างงาน แม้ว่าตอนนี้จะยังประเมินหนี้เอ็นพีแอลไม่ได้ แต่ในแง่เสถียรภาพสถาบันการเงิรระบบธนาคารค่อนข้างแข็งแกร่ง การตั้งสำรองสูงต่อเนื่อง มีเงินกองทุนบีไอเอส 19% สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งแบงก์มีการปรับตัวรับเอ็นพีแอลได้ แต่สิรงที่กระทบเมื่อเอ็นพีแอลสูง การปล่อยสินเชื่อจะเข้มขึ้น”