3 ปัจจัยสำคัญ ต่อเศรษฐกิจโลก ในช่วงที่เหลือของปี 2020

(File Photo by Angela Weiss / AFP)
มองข้ามชอต
วชิรวัฒน์ บานชื่น Economic Intelligence Center ธ.ไทยพาณิชย์

หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ชะลอลงในหลาย ๆ ประเทศก่อนหน้านี้ ประกอบกับภาครัฐได้มีมาตรการสนับสนุนขนาดใหญ่ออกมา และทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองลง

ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญที่อาจส่งผลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวในระยะต่อไป

บทความนี้จะเสนอ 3 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปี 2020 นี้

1.มาตรการปิดเมืองที่เริ่มกลับมาเข้มงวดขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกแม้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่การฟื้นตัวเริ่มมีแนวโน้มช้าลง

หลังทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองลง สถานการณ์การระบาดCOVID-19 ในบางประเทศกลับมาเพิ่มสูงขึ้น

ถึงแม้จะมีบางประเทศที่สามารถคุมสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อได้ แต่ประเทศส่วนใหญ่ยังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐ อินเดีย และบราซิล เป็นต้น

อีกทั้งบางกลุ่มประเทศยังไม่สามารถคุมการแพร่ระบาดได้ดีนัก หลังผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองลง เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีจากสถานการณ์การควบคุมโรคระบาดที่แตกต่างกัน ทำให้ความคืบหน้าของมาตรการการเปิดเมืองมีความแตกต่างกัน โดยในประเทศที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง ภาครัฐได้เริ่มทยอยเปิดเมืองต่อเนื่อง

ในขณะที่ประเทศที่จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาอยู่ในระดับสูง ภาครัฐได้เริ่มมีการเลื่อนการเปิดเมือง (lockdown easing delay) หรือกลับมาเพิ่มความเข้มงวดในบางพื้นที่ (local lockdown)

เช่น สหรัฐ ที่กลับมาเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการขึ้นในบางรัฐ อีกทั้งเกาหลีใต้ เยอรมนี และอิตาลี ก็เริ่มกลับมาใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้น

การเลื่อนมาตรการเปิดเมือง หรือการกลับมาใช้มาตรการปิดเมืองที่เข้มข้น เป็นความเสี่ยงต่อแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่อาจเริ่มชะลอตัวลงในระยะต่อไป (stalling economic recovery)

โดยในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ความเข้มงวดของมาตรการปิดเมืองส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัวอย่างมีนัย โดยประเทศที่ใช้มาตรการอย่างเข้มงวดจะเผชิญต่อภาวะเศรษฐกิจหดตัวที่รุนแรงกว่า

และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่หดตัวลงมากที่สุดในไตรมาส 2 ของปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่มาตรการปิดเมืองเข้มงวดมากที่สุด

ยกเว้นจีนที่กลับมาฟื้นตัวขึ้นหลังได้ผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองก่อนประเทศอื่น ๆ

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มปรับชะลอลง (stalling recovery) สะท้อนจากดัชนี Google mobility (retail and recreation) ที่ฟื้นตัวชะลอลงในหลาย ๆ ประเทศ

นอกจากนี้ เครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนของประเทศเศรษฐกิจหลักก็บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยยอดใช้บัตรเครดิตและบัตรเดบิตในสหรัฐปรับชะลอลง และยังอยู่ต่ำกว่าช่วงก่อน COVID-19

การบริโภคภาคบริการในญี่ปุ่นยังคงอ่อนแอ และการลงทุนภาคการผลิตของจีนยังคงต่ำ

อย่างไรก็ดี คาดว่ามาตรการปิดเมืองในระยะหลังจะเน้นการปิดเมืองแบบเฉพาะพื้นที่ (local lockdown) ซึ่งมีความเข้มงวดน้อยกว่าการปิดเมืองแบบทั่วไป (nation-wide lockdown) ที่เคยประกาศใช้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา

เนื่องจากรัฐบาลในหลายประเทศตระหนักถึงผลกระทบของการปิดเมืองแบบทั่วไป ที่ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจต้องตกอยู่ในภาวะหยุดชะงักและหดตัวลงอย่างมาก

2.ความเสี่ยงหน้าผาทางการคลัง (fiscal cliff) : มาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่ได้ดำเนินไปเริ่มหมดอายุลง หรือการต่ออายุของมาตรการอาจมีขนาดเล็กลง ในขณะที่รายได้และการจ้างงานยังฟื้นตัวช้า

มาตรการทางการคลังที่ประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาทยอยหมดอายุลงหรือได้รับการต่ออายุแต่ในขนาดที่เล็กลงในหลายประเทศ ทำให้เกิดหน้าผาทางการคลัง (fiscal cliff) ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

โดยที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกมาตรการทางการเงินและการคลังขนาดใหญ่ เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะหยุดชะงัก และตลาดการเงินที่อยู่ในภาวะวิ่งเข้าหาเงินสด (dash for cash)

ซึ่งมาตรการประเภทให้เงินช่วยเหลือ (cash handout) ส่วนใหญ่เป็นมาตรการชั่วคราว โดยหากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาไม่ทันกับการหมดอายุลงของมาตรการภาครัฐ หรือมาตรการเหล่านี้ไม่ถูกต่ออายุออกไป ก็อาจเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ตัวอย่าง เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐทยอยหมดอายุลง แต่ทางสภายังไม่สามารถตกลงมาตรการชุดใหม่ได้ เนื่องจากมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องขนาดของมาตรการ

มาตรการสำคัญที่กำลังเป็นที่จับตามอง คือ มาตรการให้เงินสนับสนุนเพิ่มเติมแก่ผู้ว่างงาน (600 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์) ซึ่งได้หมดอายุลงในเดือนกรกฎาคม 2020 ถึงแม้ว่าประธานาธิบดี Trump จะต่ออายุมาตรการผ่านการใช้ executive order แต่เงินช่วยเหลือแก่ผู้ว่างงานนั้นมีขนาดเล็กลง เหลือเพียง 400 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์ หรือ 300 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์ในบางรัฐ

อีกทั้งคาดว่างบประมาณที่ได้รับการจัดสรรมาจะเพียงพอสำหรับการจ่ายเงินช่วยเหลือเพียงเดือนเดียวเท่านั้น และการต่ออายุมาตรการหลังจากนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง

เนื่องจากทางพรรค Democrat และ พรรค Republican ยังไม่สามารถตกลงเรื่องขนาดของมาตรการได้ จึงเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

นอกจากสหรัฐแล้ว สหราชอาณาจักรก็มีความเสี่ยง fiscal cliff เช่นกัน โดยที่ผ่านมาได้มีมาตรการช่วยเหลือการพักงาน (furlough scheme) ซึ่งรัฐบาลช่วยจ่ายสนับสนุนค่าจ้างลูกจ้างจำนวน 80% ในระหว่างที่ลูกจ้างต้องหยุดพักงานชั่วคราว

อย่างไรก็ดี ล่าสุดทางสหราชอาณาจักรได้ปฏิเสธการต่ออายุมาตรการออกไปและจะทยอยลดการอุดหนุนค่าจ้างลงเป็น 70% ในเดือนกันยายน และ 60% ในเดือนตุลาคม จากนั้นจะยกเลิกมาตรการหลังจากนั้นซึ่งคาดว่าการยกเลิกมาตรการอาจส่งผลให้ตัวเลขการว่างงานในระบบเพิ่มสูงขึ้น

3.รอยแผลเป็นจากวิกฤต COVID-19 (scaring effects) : การล้มละลายของภาคธุรกิจปรับสูงขึ้น และการฟื้นตัวช้าของตลาดแรงงาน

มาตรการปิดเมืองที่เข้มงวดส่งผลให้แรงงานจำนวนมากถูกเลิกจ้างเป็นเวลานาน ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพแรงงานและแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้

โดยพบว่าวิกฤต COVID-19 ส่งผลให้อัตราการว่างงานในสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากที่ราว 4.5% ในเดือนมีนาคม 2020 มาแตะระดับสูงสุดที่ 14.4% ในเดือนเมษายน 2020

ซึ่งภายหลังจากที่มาตรการปิดเมืองได้ถูกผ่อนคลายลงไปบ้าง แต่อัตราการว่างงานก็ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 8.5%

การจ้างงานที่ยังไม่ฟื้นกลับมานั้นเป็นผลจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอและความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับต่ำ

ทำให้นายจ้างหรือภาคธุรกิจลังเลต่อการกลับมาจ้างงาน ซึ่งการว่างงานที่นานต่อเนื่องอาจส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว เนื่องจากอาจทำให้ระดับฝีมือแรงงานถดถอยลง

นอกจากนี้ แม้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างบางส่วนจะสามารถกลับมาทำงานได้ แต่ก็อาจไม่สามารถกลับไปประกอบอาชีพเดิมได้ ซึ่งส่งผลเสียต่อทุนด้านจับคู่ (job-matching capital)

อันได้แก่ ทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ได้มาจากการฝึกฝนงานเดิมเป็นเวลานาน และความเข้าใจในการดำเนินงานของบริษัท รวมถึงลักษณะเฉพาะของธุรกิจ

โดยการศึกษาในสหรัฐพบว่า แรงงานมากกว่า 40% ที่เคยตกงานไม่สามารถกลับไปประกอบอาชีพเดิมได้ ซึ่งปัจจัยด้านประสิทธิภาพแรงงานนี้เป็นกลไกสำคัญต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานทางธุรกิจ และมีผลต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว

นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ส่งผลให้บริษัททั่วโลกมีแนวโน้มปิดกิจการมากขึ้น ภาวะการแพร่ระบาดของ COVID-19 และมาตรการปิดเมืองทำให้การเดินทางถูกจำกัด เป็นผลให้ประชาชนลดการบริโภคและลงทุนลง ภาคธุรกิจจึงสูญเสียรายได้จากการค้า โดยเฉพาะกลุ่มภาคการบริการที่รายได้ลดลงมาก

อย่างไรก็ดี แม้ว่าธุรกิจบางส่วนจะสามารถปรับลดต้นทุนลงได้บ้าง และได้รับการช่วยเหลือผ่านมาตรการภาครัฐ แต่ต้นทุนส่วนใหญ่ของภาคธุรกิจก็ยังไม่สามารถปรับลดลงได้เท่า หรือใกล้เคียงกับรายได้ที่ลดลง ส่งผลให้ต้องปิดกิจการลง

โดยการศึกษาของ IMF พบว่า จำนวนบริษัทที่ล้มละลาย (bankruptcy filing) ในสหรัฐ ปรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดนับตั้งแต่หลังวิกฤตการเงินโลก (global financial crisis)

นอกจากนี้ การประเมินของ IMF โดยใช้ข้อมูลของ Moody’s ยังพบอีกว่า โอกาสผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่มประเทศ G20 ปรับสูงขึ้นหลังเกิดวิกฤต COVID-19 เช่นกัน

โดยการปิดกิจการที่มีแนวโน้มสูงขึ้นนี้อาจซ้ำเติมตลาดแรงงานที่อ่อนแอได้ เนื่องจากพบความสัมพันธ์ของการล้มละลายที่สูงขึ้นและอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น