“แบงก์ชาติ” ปักหมุดแก้หนี้เชิงรุก จัดมาตรการรับมือไม่ให้หนี้ดีกลายเป็นหนี้เสีย

แบงก์ชาติ

ธปท.ชี้หนี้ครัวเรือนไทยปัจจัยหลักจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหา หลังไตรมาส 1/63 สัดส่วนพุ่งขึ้นแตะ 80.1% ผวา!วิกฤตโควิด-19 ซ้ำเติม พบหนี้เสียพุ่งขึ้นเฉลี่ยแตะ 6.5 หมื่นบาทต่อราย จากเดิม 3.5 หมื่นบาท

นางสาวอัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 63 หรือ BOT Symposium 2020 ช่วงเสวนา “เหลียวหลัง…แลหน้า อนาคตหนี้ครัวเรือนไทย” ในหัวข้อ “เจาะความท้าทายใหม่ของหนี้ครัวเรือนในวิกฤติโควิด-19” ว่า จากข้อมูลสินเชื่อที่เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือ พบว่า “หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย” ในหลายปีที่ผ่านมา และมีความรุนแรงขึ้น เห็นได้จากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเป็น 80.1% ในไตรมาสแรกปี 2563 เพิ่มจาก 50.4% เมื่อปี 2552 ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่การเกิดโรคระบาดโควิด-19 ยิ่งทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมีความท้าทายมากขึ้น และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า

ทั้งนี้จากฐานข้อมูลเชิงสถิติจากเครดิตบูโร(NCB) ที่ครอบคลุมสินเชื่อรายย่อย 23.1 ล้านคน มูลหนี้รวม 11.9 ล้านล้านบาท (คิดเป็น 88.3% ของหนี้ครัวเรือนในระบบทั้งหมด) และข้อมูลสินเชื่อเกษตรกรจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาศึกษาสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยพบว่า

คนไทยเป็นหนี้เร็ว พบหนี้เสียพุ่งขึ้นเฉลี่ยแตะ 6.5 หมื่นบาทต่อราย

“ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยเป็นหนี้ในวงกว้างขึ้น และมีค่ากลางมูลหนี้เพิ่มจาก 7 หมื่นบาทต่อราย เป็น 1.28 แสนบาท ขณะที่สัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียลดลงจาก 22% เหลือ 16% แต่ก็ยังถือว่าสูง โดยหนี้เสียดังกล่าวมีค่ากลางมูลหนี้ที่ 6.5 หมื่นบาทต่อราย จากเดิมอยู่ที่ 3.5 หมื่นบาท และพบว่าคนไทยยังเป็นหนี้เร็ว คือเป็นหนี้ตั้งแต่อายุน้อย 60% ของกลุ่มคนอายุ 29-30 ปีจะเป็นหนี้ โดยกลุ่มคนอายุน้อยจะมีหนี้เสียถึง 1 ใน 4 และคนไทยยังเป็นหนี้นาน แม้หลังเกษียณแล้ว ยังมีค่ากลางมูลหนี้ประมาณ 7-8 หมื่นบาทต่อราย”

“โครงรถรถคันแรก-พักชำระหนี้เกษตรกร” เหตุก่อหนี้เพิ่มขึ้น

ปัจจัยที่เกื้อหนุนให้มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นในคนเมือง คือ “นโยบายรถคันแรก” ทำให้ทั้งที่ไม่พร้อมจะเป็นหนี้ และกลายเป็นหนี้เสีย ขณะที่คนในชนบท พบว่า “นโยบายการให้ความช่วยเหลือภาครัฐ” เช่น นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกร จากการศึกษาพบว่า เกษตรกรที่เข้าโครงการพักหนี้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2559 มีหนี้สะสมมากขึ้น และกลายเป็นหนี้เสียมากกว่าเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าโครงการ ฉะนั้นโครงการพักหนี้เกษตรกรจึงอาจไม่ใช่แแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ในระยะยาว

Advertisment

จะเห็นได้ว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยที่ผ่านมา มีความเปราะบางเป็นทุนเดิมอยู่แล้วและมากขึ้นเมื่อเกิดสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้ครัวเรือนจำนวนมากมีปัญหาในการชำระหนี้ ตอกย้ำถึงความเปราะบางดังกล่าว

ผู้กู้เข้ามาตรการเลื่อนชำระหนี้สูงถึง 71% สะท้อนปัญหาชำระหนี้

ทั้งนี้ถ้าแยกบัญชีและผู้กู้ที่เข้ามาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย.63 พบว่ามีจำนวน 8.1 ล้านบัญชี หรือมูลหนี้ประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท (ประมาณ 70% ของจำนวนบัญชีที่ ธปท. รายงานว่าเข้ามาตรการ) ส่วนใหญ่ 59% เข้าร่วมมาตรการในเดือน เม.ย.63 โดย 42.6% เข้ามาตรการครบ 3 เดือน ขณะที่ 16.6% ออกจากมาตรการก่อนครบ 3 เดือน แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของสถานการณ์ที่ไม่เท่ากันของผู้กู้แต่ละกลุ่ม

โดยผู้กู้เข้ามาตรการแบบเลื่อนชำระหนี้ถึง 71% สะท้อนถึงการมีปัญหาในการชำระหนี้ ขณะที่ 26% ใช้วิธีลดอัตราชำระหนี้ และ 3% เข้ามาตรการสำหรับสินเชื่อที่เป็น NPL คือ ปรับโครงสร้างหนี้ หรือโครงการคลินิกแก้หนี้

ผู้กู้กระจุกตัวในโซน “อีสานใต้” แบกหนี้พีโลน-บ้าน

อย่างไรก็ตามผู้กู้ที่เข้ามาตรการส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคอีสานใต้ สูงถึง 40-60% เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นหลัก ซึ่งมีจำนวนบัญชีมาก รองลงมาคือ สินเชื่อบ้าน ที่มีขนาดมูลหนี้สูง ส่วนใหญ่จะเป็นการเลื่อนการชำระหนี้ ขณะที่กรุงเทพและปริมณฑล ภาคใต้และภาคเหนือตอนบน มีสัดส่วนการเข้ามาตรการสำหรับหนี้เสียสูงกว่าพื้นที่อื่น

Advertisment

นอนแบงก์เปราะบาง ลูกหนี้เข้าโครงการช่วยเหลือมากสุด 75% ของพอร์ต

ด้านสถาบันการเงินที่เป็นผู้ให้กู้ พบว่ากลุ่ม “นอน-แบงก์” มีสัดส่วนสินเชื่อในพอร์ตที่เข้าโครงการมากที่สุด 37-75% ของสินเชื่อในพอร์ต ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเช่าซื้อ ขอลดอัตราการชำระเป็นหลัก แสดงให้เห็นว่า กลุ่มนอนแบงก์อาจจะมีความเปราะบางมากกว่าสถาบันการเงินกลุ่มอื่น เห็นได้จากมีบัญชีที่เข้ามาตรการจำนวนมาก และอาจมีความเสี่ยงที่ผู้กู้จะไม่สามารถชำระหนี้ได้

โดยเฉพาะในกลุ่มที่ขอเลื่อนระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป และหากสถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อออกไป ผู้กู้ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้มากขึ้น เมื่อพิจารณาผู้กู้ที่เข้ามาตรการพบว่าส่วนใหญ่มีภาระหนี้สูง ค่ากลางมูลหนี้ประมาณ 5 แสนบาทต่อราย สูงกว่าผู้กู้ที่ไม่ข้ามาตรการ (1 แสนบาทต่อราย) และมีการกู้หลายบัญชี คือ 4-5 บัญชีขึ้นไป

ทั้งนี้ ในเดือน ก.ค.63 ซึ่งครบกำหนดมาตรการช่วยเหลือของสินเชื่อบางประเภท พบว่า มีผู้กู้ที่ออกจากมาตรการ 2.1 ล้านราย หรือ 36.7% ของผู้กู้ที่เข้ามาตรการ และมีบัญชีที่ขอออกจากมาตรการ 3.4 ล้านบัญชี หรือ 44% ของบัญชีที่เข้ามาตรการ ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเช่าซื้อ และเป็นผู้กู้ในกรุงเทพและปริมณฑล มากกว่าภาคอื่น

โดยเป็นลูกหนี้ของนอน-แบงก์เป็นหลัก แต่บางนอน-แบงก์ที่มี exposure สูงก็ยังคงสูงอยู่ เพราะแม้จะมีบัญชีที่ขอออกจากมาตรการบ้าง แต่ในสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับบัญชีสินเชื่อที่เข้ามาตรการ

ส่วนด้านผู้กู้ พบว่า ผู้กู้ที่ออกจากมาตรการจะมีค่ากลางมูลหนี้ ต่ำกว่า 2.5 แสนบาทต่อราย น้อยกว่าผู้ที่ยังอยู่ในมาตรการต่อ ที่มีค่ากลางมูลหนี้ 5 แสนบาทต่อราย และมีหลายบัญชีที่เข้ามาตรการ

จากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนดังกล่าว ธปท.พยากรณ์สถานการณ์หนี้ที่อาจจะมีปัญหาจากวิกฤตโควิดภายใต้รูปแบบต่างๆ ผลการศึกษาพบว่า ภาคการท่องเที่ยวมีบทบาทในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้กู้ที่คาดว่าจะมีปัญหาการชำระหนี้มีจำนวนน้อยลงจากสถานการณ์ปกติที่ประเมินว่าจะทำให้ผู้กู้ 2.1 ล้านคน หรือ 2.5 ล้านบัญชีอาจจะมีปัญหาความสามารถในการชำระหนี้

แต่ทั้งนี้ก็อาจมาพร้อมกับความเสี่ยงในการระบาดระลอก 2 ที่อาจนำไปสู่การล็อกดาวน์ประเทศรอบ 2 ส่งผลให้เกิดการชะงักงันของระบบเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยเป็นผู้กู้ที่คาดว่าจะมีปัญหากระจุกตัวอยู่ในภาคอีสานตอนใต้ ภาคใต้ และตามแนวชายแดนภาคเหนือ ส่วนใหญ่เป็นผู้กู้ที่มีสินเชื่อส่วนบุคคล รองลงมา คือสินเชื่อบ้าน ซึ่งสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้อาจต้องเข้าไปดูแลผู้กู้กลุ่มนี้เป็นพิเศษ

บทสรุป ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์หนี้ที่เพิ่มขึ้นมาก และมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องได้รับการดูแลแก้ปัญหาหนี้ในเชิงรุกควบคู่ไปกับมีมาตรการรองรับไม่ให้หนี้ดีกลายเป็นหนี้เสีย

เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การเพิ่มบทบาทของคลินิกแก้หนี้ การตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือเอเอ็มซีเพื่อรับดูแลหนี้เสียที่จะมีจำนวนมากขึ้น การแก้กฎหมายล้มละลาย เพื่อเปิดทางให้ผู้กู้รายย่อยที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว สามารถยื่นขอล้มละลาย และพ้นจากการล้มละลายได้ใน 3 ปี เหมือนกรณีบริษัท หรือนิติบุคคล เพื่อให้ผู้กู้รายย่อยที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวหลุดพ้นจากวงจรหนี้ เริ่มต้นชีวิตใหม่ได้

ขณะเดียวกัน ผลกระทบของวิกฤตแตกต่างกันมากระหว่างผู้กู้ พื้นที่และสถาบันการเงิน ดังนั้นในการออกนโยบายหรือมาตรการช่วยเหลือในระยะต่อไปควรจะออกมาตรการที่ดูแลกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน