“ปลัดคลัง” เครื่องร้อน รับลูกจัดมาตรการภาษีจูงใจคนชั้นกลางบริโภค-กระตุ้นเศรษฐกิจ

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง

ปลัดคลัง นัดถก “ผู้บริหาร-กรมภาษี” อัพเดททิศทางดำเนินงาน เตรียมแผนดูแลเศรษฐกิจระยะสั้นเสนอ รมว.คลังคนใหม่ 2 ต.ค.นี้ พร้อมรับลูก ศบศ. สั่ง สศค. ออกมาตรการภาษี จูงใจคนมีตังค์ใช้จ่าย ด้านการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ ต้องรอเวลาที่เหมาะสม

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังเข้ารับตำแหน่งเป็นวันแรก ว่า  ในวันที่ 2 ต.ค.2563 จะมีการเรียกประชุมผู้บริหาร และอธิบดีกรมต่างๆ ในสังกัดกระทรวงการคลังมาหารือ เพื่อรับฟังข้อมูลการดำเนินงาน หรือข้อจำกัดในการทำงานของแต่ละหน่วยงานในช่วงที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร ก่อนนำข้อมูลที่ได้ไปจัดทำแผนดูแลเศรษฐกิจในระยะสั้น 6 เดือน ถึง 1 ปี ได้อย่างเหมาะสม เพื่อเตรียมความพร้อมไว้รอเสนอให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ พิจารณาต่อไป

“ก็จะดูทั้งระยะสั้นว่าควรจะมีมาตรการอะไรออกมาหรือไม่ แต่ละหน่วยงานทำงานเป็นอย่างไร มีข้อจำกัดอะไร ที่ทำได้ไม่ได้บ้าง เพื่อเตรียมทำแผนระยะสั้น และจะดูต่อไปว่าในระยะกลาง จะทำอะไรต่อได้บ้าง คิดทุกอย่างเอาไว้ให้ชัดเจน เผื่อถ้ามีรมว.คลังคนใหม่เข้าก็ ก็จะได้นำแผนเหล่านี้ไปเสนอ”

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับคนชั้นกลางที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบศ. อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทาง ซึ่งอาจจะใช้แนวทางลดหย่อนภาษีมากระตุ้นการบริโภคของคนชั้นกลางมากขึ้นนั้น จะใช้รูปปแบบช้อปช่วยชาติ หรือชิมช้อปใช้ อย่างไรนั้น จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งยังไม่ทราบในรายละเอียด จะมีการหารือร่วมกันว่าจะให้วิธีอย่างไร และพิจารณาควบคู่กับฐานะการคลัง ว่าจะมีผลกระทบหรือไม่ รวมทั้งความคุ้มค่าด้วย ซึ่งหากทำแล้วมีความคุ้มค่าก็ยินดีที่จะดำเนินการ

“ผมจะเข้าไปหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)  ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร ซึ่งสิ่งที่เราอยากจะได้คือ ไม่ใช่ว่าสิ่งที่เขาจะซื้ออยู่แล้ว แล้วเขาได้ประโยชน์ จะต้องกระตุ้นให้เขาใช้เพิ่ม ถ้าเป็นสิ่งที่เขาจะจ่ายอยู่แล้ว แล้วเขามาได้ประโยชน์ส่วนนี้ก็เป็นเหมือนการช่วยเขาเฉยๆ ตอนนี้เราอยากให้เขาช่วยเราด้วย เช่น เขาไม่อยากซื้ออะไรมาก่อน วันนี้เขาก็ซื้อ ซึ่งจะต้องให้โจทย์สศค. ไปพิจารณา”

Advertisment

ทั้งนี้ จะสั่งการให้ สศค. ไปหาข้อมูลผลกระทบจากโควิด-19 ของแต่ละรายภาคธุรกิจว่าได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจยานยนต์ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเป็นรายธุรกิจ ให้ตรงจุดมากขึ้น พร้อมกันนี้ สศค.ก็จะต้องกลับไปดูว่า หากจำเป็นต้องให้การช่วยเหลือรายธุรกิจใด จะต้องช่วยเหลือในลักษณะไหน และจะกระทบต่อฐานะการคลังมากน้อยเพียงใด หรือเมื่อหากต้องสูญเสียรายได้ภาษีไป จะคุ้มค่ากับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหรือไม่ด้วย

ส่วนการปรับโครงสร้างภาษีนั้น นายกฤษฎา กล่าวว่า เรื่องโครงสร้างภาษีเป็นเรื่องใหญ่ คงไม่รื้อแผนการพิจารณาของ สศค. ที่ดำเนินการไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แต่จะนำมาดู เพื่อพิจารณาว่าภาษีตัวใดจะนำมาใช้ในช่วงเวลาใดถึงจะเหมาะสมมากกว่า เพราะเป็นเรื่องที่จะมีผลกับหลายภาคส่วน