ชิงตลาด “ดิจิทัลพีโลน” คึกคัก “กสิกร”ปล่อยกู้ผ่าน “ไลน์”- KTB เริ่มปี’64

“แบงก์-น็อนแบงก์” ลุยตลาด “สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล” ล่าสุด ธปท.เผยมีน็อนแบงก์ดอดขอทำธุรกิจแล้ว 1 ราย แถมมีอีก 4-5 รายที่มีไลเซนส์สินเชื่อบุคคลอยู่แล้วแสดงความสนใจ ตั้งเป้าเป็น “แหล่งเงินทุนฉุกเฉิน” ช่วยคนที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ขณะที่ “กสิกรไทย” เดินเกมรุกเร็วดัน “LINE BK” เปิดตัว “สินเชื่อใหม่” ปล่อยกู้ตามแนวทางแบงก์ชาติผ่าน “LINE chat” ในเดือน ต.ค.นี้ ฟาก “กรุงไทย” ซุ่มทดสอบปล่อยกู้ดิจิทัลเล็งเปิดตัวต้นปี”64 ด้าน “เคทีซี” รับสนใจทำธุรกิจ-เร่งศึกษารายละเอียด

นางนวอร เดชสุวรรณ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจาก ธปท.ออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (digital per-sonal loan) ปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) เข้ามายื่นขออนุญาตดำเนินธุรกิจแล้ว 1 ราย รวมถึงยังมีผู้ประกอบธุรกิจที่มีไลเซนส์สินเชื่อบุคคลภายใต้กำกับอยู่แล้ว สนใจเข้ามาสอบถามอีก 4-5 ราย ทั้งที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ และน็อนแบงก์

นวอร เดชสุวรรณ์

ทั้งนี้ สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลจะปล่อยกู้ได้วงเงินไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อราย และชำระหนี้คืนภายใน 6 เดือน ดังนั้น ธปท.จึงต้องการให้นำข้อมูลทางเลือกด้านอื่น ๆ (alternative data) มาประกอบการตัดสินใจปล่อยสินเชื่อ รวมถึงระบบบริหารจัดการติดตามหนี้และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ที่จะอยู่ในแผนการปล่อยสินเชื่อด้วยเช่นกัน

“การพิจารณาอนุมัติของ ธปท.จะดูตามแผนตามรายงานของผู้ประกอบการที่ยื่นเข้ามา โดยสิ่งที่ ธปท.เน้นย้ำและให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ จะเป็นเรื่องของระบบทางด้านไอที ซึ่ง ธปท.จะมีกระบวนการทดสอบเจาะระบบ หรือ penetration test เพื่อดูความพร้อมความปลอดภัย และการเก็บรักษาข้อมูลลูกค้า รวมถึงจะพิจารณาเกี่ยวกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เนื่องจาก ธปท.ต้องการให้สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ไม่ใช่ลูกค้าเดิมของสถาบันการเงินและเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ยืมเงินเพราะเป้าประสงค์ต้องการให้เป็นแหล่งเงินฉุกเฉิน” นางนวอรกล่าว

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ภายในเดือน ต.ค.นี้ แบงก์จะเปิดตัวสินเชื่อและเงินฝาก ภายใต้การดำเนินการของ “LINE BK” ที่เป็นการร่วมทุนกันของกสิกรฯ กับ LINE โดยการปล่อยสินเชื่อจะดำเนินการในรูปแบบสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ภายใต้หลักเกณฑ์ของ ธปท.ที่จะปล่อยกู้ให้แก่กลุ่มลูกค้าใหม่ไม่ทับซ้อนกับลูกค้าปกติที่แบงก์ปล่อยกู้อยู่แล้ว ทั้งนี้ กสิกรฯไม่ต้องขอไลเซนส์ใหม่ เพียงแต่ต้องแจ้ง ธปท.ว่าจะดำเนินธุรกิจรูปแบบนี้

ขัตติยา CEO กสิกรไทย

“LINE BK จะเป็นมิตร และไร้รอยต่อโดยจะฝังตัวเข้าไปอยู่กับโซเชียลมีเดีย ตอนแชต (LINE chat) เลย อย่างเวลาคุย ๆ อยู่ ก็จ่ายเงินกันได้ แล้วส่งสลิปกลับมาที่แชตได้เลย ทั้งนี้ เป้าหมายเราจะให้บริการทางการเงินที่ดีที่สุดในอีกรูปแบบหนึ่ง สอดรับกับเกณฑ์ของ ธปท.ที่อนุญาตให้ใช้ข้อมูล nonfinance (ผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อ) มาประกอบการอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งข้อมูลที่เป็น nonfinance จะช่วยบอกพฤติกรรม หรือนิสัยว่าจะชำระคืนได้ไหม หรือมีนิสัยตรงไปตรงมาซื่อสัตย์ เช่น จ่ายค่าน้ำค่าไฟตรงเวลาหรือเปล่า เป็นต้น ทั้งนี้ ลูกค้าจะไม่ซ้ำกับลูกค้าที่ธนาคารปล่อยกู้อยู่แล้ว โดยในสัญญาจะระบุไว้ชัดเลย” นางสาวขัตติยากล่าว

นางสาวขัตติยากล่าวด้วยว่า ธนาคารตั้งเป้าหมายภายใน 1 ปี “LINE BK” จะมีลูกค้าสินเชื่อและเงินฝาก 4 ล้านราย นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างศึกษาและทดลองการปล่อยสินเชื่อดิจิทัลเลนดิ้ง (digital lending) ในศูนย์ทดสอบนวัตกรรมทางการเงิน (sandbox) ของธนาคารกรุงไทยเอง โดยได้กลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มลูกค้ารายย่อยในเซ็กเมนต์ต่าง ๆ มีทั้งกลุ่มที่มีรายได้ชัดเจน และกลุ่มที่ไม่มีสเตตเมนต์เงินเดือน สอดรับกับเกณฑ์ของ ธปท.ที่เปิดโอกาสให้ใช้ข้อมูลด้านทางเลือกอื่นมาวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อ

“เราได้ทดลองปล่อยสินเชื่อในแซนด์บอกซ์ของเราเงียบ ๆ มาประมาณ 3-4 เดือนแล้ว ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างดูความเสถียรและแม่นยำของข้อมูล และทำความเข้าใจลูกค้าในแต่ละกลุ่มให้มากขึ้น คาดว่าน่าจะเปิดตัวเป็นทางการได้ภายในต้นปี 2564” นายผยงกล่าว

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บัตรกรุงไทย (เคทีซี) กล่าวว่า บริษัทได้รับทราบถึงประกาศของ ธปท.ที่เปิดทางให้ทำธุรกิจสินเชื่อดิจิทัลส่วนบุคคลแล้ว และมีความสนใจจะประกอบธุรกิจดังกล่าว โดยเบื้องต้นต้องศึกษารูปแบบของธุรกิจใหม่ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าสินเชื่อดิจิทัลส่วนบุคคล จะเป็นกลุ่มลูกค้าคนละกลุ่มกันกับลูกค้าของเคทีซีในปัจจุบัน