“อาคม” อุ้มลูกหนี้แบงก์รัฐ หวั่นม็อบขยาย-กระทบธุรกิจยืดเยื้อ

วันที่ 20 ตุลาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงว่า นายสุพัฒนพงศ์ พันธ์มีเชาร์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม.) ประมาณการเศรษฐกิจของประเทศ ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับตัวเลขประมาณการณ์ของประเทศไทยจากเดิมที่คาดว่าในปี 2563 ติดลบ 7.7 ปรับให้ดีขึ้น ติดลบ 7.1 แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 ปรับตัวได้ดีขึ้น

เนื่องจากมาตรการของรัฐบาลที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง มีการปลดล็อก ผ่อนคลายมาตรการ อีกทั้งเข้าไปช่วยเหลือสภาพคล่องทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ SMEs รายย่อย ซึ่งการปรับตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจ IMF และธนาคารโลกปรับตัวให้กลุ่มประเทศเอเชียฟื้นตัวเร็วขึ้นกว่าภูมิภาคอื่นของโลก ประกอบกับภายในประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นหลายตัวปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 3 และคาดว่าจะต่อเนื่องในไตรมาส 4 ปีนี้ด้วย

นายอาคม กล่าวต่อว่า ส่วนการให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องทางระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการภายใต้ พระราชกำหนด การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา พ.ศ. 2019 2563 (พ.ร.ก.ซอฟท์โลน) วงเงิน 5 แสนล้านนั้น ชัดเจนว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะไม่ต่ออายุ ซึ่งจะสิ้นสุดโครงการ 22 ตุลาคมนี้

อย่างไรก็ตาม ธปท.ไม่ได้นิ่งเฉย ได้ประสานกับธนาคารพาณิชย์ให้จัดมาตรการต่อเนื่อง โดยจัดกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่ม ๆ แบ่งได้ดังนี้

1.ลูกหนี้ที่กลับมาดำเนินการตามธุรกิจตามปกติ คือ ธุรกิจกลุ่มสีเขียวอ่อน 60%
2.กลุ่มลูกหนี้ที่กลับมาดำเนินธุรกิจ แต่ยังไม่ฟื้นตัว ประมาณ 30%
3.กลุ่มลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ ซึ่งต้องเข้าไปช่วย 4%
4.กลุ่มลูกหนี้ที่ขาดการติดต่อกับสถาบันการเงินในระบบซึ่งมีอยู่ประมาณ 6%

“ทาง ธปท.ประสานกับธนาคารพาณิชย์ดูแลกลุ่มลูกค้า ส่วนระบบสถาบันการเงินที่อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง เช่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารอิสลาม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ให้ดูแลลูกค้าต่อเนื่องจำนวน 4 ล้านราย ทั้งสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อ SMEs และสินเชื่อธุรกิจรายย่อย จากลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินทั้งหมด 12 ล้านราย”

“เราจะขยายเวลาให้กับคนที่อยู่ในกลุ่มที่ 3 และกลุ่ม 4 เราจะต้องดึงขึ้นมา หากคำนวณแล้วอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้าน ขณะที่กลุ่ม 4 ที่ไม่มีการติดต่อ ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หรือไม่เป็น NPL ก็ต้องให้เวลา ซึ่ง 6% ส่วนกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่ยังไม่พร้อมที่จะเข้ามาชำระหนี้ ได้ให้เวลาเพิ่ม” นายอาคมกล่าว

ทั้งนี้ จำนวนสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่เข้าไปดูแลมีจำนวนทั้งหมด 1.9 ล้านล้านบาท จากทั้งหมด 5.5 ล้านล้านบาท เท่ากับ 30% ของระบบสถาบันการเงินทั้งหมด นอกจากนี้ ปล่อยสินเชื่อสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร คือกลุ่มลิสซิ่ง เช่าซื้อรถ มีจำนวนหนึ่ง

นายอาคม กล่าวว่า อยากย้ำว่า มาตรการเสริมสภาพคล่อง พักชำระหนี้นั้น กระทรวงการคลังยังดูแลต่อเนื่อง โดยเฉพาะในขอบเขตหน้าที่ของสถาบันการเงินของรัฐในการเป็นเครื่องมือให้สภาพคล่องในระบบธุรกิจดำเนินต่อไปได้ ทางกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการประสานงานธนาคารทั้งหมดจะมีความชัดเจนในภายในต้นสัปดาห์หน้า

“ตอนนี้ให้การบ้านไป ประมาณสัปดาห์นี้หรือต้นสัปดาห์หน้า จะมีความชัดเจน เพราะว่าได้มีการขยายเวลายื่นเวลาชะลอการชำระหนี้หรือพักชำระหนี้ไปด้วย เป็นส่วนที่สามารถดำเนินการเองได้โดยมาตรการของแบงก์รัฐเอง”

ส่วนการยืดระยะเวลาชำระหนี้ของธนาคารรัฐต่างๆ นั้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) สามารถยืดเวลาให้ถึงเดือนมีนาคม 2564 ส่วนธนาคารออมสิน อยู่ในระหว่างการพิจารณาของบอร์ด ซึ่งธนาคารแต่ละแห่งจะมีการขยายเวลาที่ต่างกัน อาจจะพิจารณา 3 เดือนหรือ 6 เดือน ขึ้นอยู่กับธนาคารนั้น ๆ

นอกจากนี้ ในส่วนของกลุ่มที่ชำระหนี้ตรงเวลาอาจมีการมอบรางวัลพิเศษ ซึ่งให้รอความชัดเจนอีกครั้งภายในต้นสัปดาห์หน้า

ขณะที่ ผลการประเมินสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ประเมิน GDP ประเทศไทย -7.8 นั้น นายอาคมระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีธุรกิจหยุดทำการจากสถานการณ์ทางการเมือง ต้องตรวจสอบว่าส่งผลกระทบเพียงพื้นที่จำกัดหรือไม่ แต่หากขยายวงกว้าง อาจมีผลกระทบระยะยาว

ทั้งนี้ นายอาคม ระบุว่า การที่ยังอยู่ในวงจำกัดที่น่าห่วง เพราะเป็นซิเนริโอ (สถานการณ์) ว่าจำกัดอยู่แค่นี้หรือขยายออกไปทั้งในเรื่องของเวลาหรือขยายขอบเขตวงกว้างในลักษณะของพื้นที่ช่วง 2 สัปดาห์นี้ ส่วนส่งผลกระทบขนาดไหน นายอาคมตอบว่า “เป็นช่วงสั้นๆ”