เปิดโผ 4 รัฐวิสาหกิจหนี้ท่วม เผือกร้อนในมือ “อาคม”

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง

กระทวงการคลัง ได้หารือร่วมกับกระทรวงคมนาคม ถึงการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดย “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ขุนคลังระบุว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้มาอธิบายแนวทางแผนฟื้นฟู และสาเหตุการปรับแผน ซึ่งยังมีแนวทางที่จะให้กระทรวงการคลังรับภาระหนี้อยู่ แต่ก็ต้องรอติดตามรายละเอียดที่กระทรวงคมนาคมจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาด้วย ซึ่งจะต้องพิจารณาประกอบกับฐานะการเงินและการฟื้นฟูว่าจะมีแนวทางอย่างไร เพื่อให้รายได้กลับเข้ามา

ซึ่งปัจจุบันหนี้ของ ขสมก. 122,102 ล้านบาท ถูกนับเป็นหนี้สาธารณะอยู่แล้ว แต่การจะ “ยกหนี้ทั้งหมดให้คลัง” ก็ต้องดูข้อเท็จจริงว่าหนี้ที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไร โดยต้องมีข้อแลกเปลี่ยนเรื่องบริการที่ดีขึ้น การจัดหารถใหม่ และการปรับค่าโดยสารราคาใหม่ 30 บาทขึ้นได้ทุกสายทุกเที่ยว ที่เป็นข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ด้วย

หากพิจารณาตามที่ขุนคลังบอก โซลูชั่นที่ออกมา คาดว่าคงหนีไม่พ้นการ “โยกหนี้” จำนวน 122,102 ล้านบาท ของ ขสมก.มาเป็นหนี้ของกระทรวงการคลัง เพราะปัจจุบัน ขสมก. มี “สัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ” (DSCR) ต่ำกว่า 1 เท่า คือ อยู่ที่ -0.03 เท่า จากการที่มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่าย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ติดลบ 961 ล้านบาท หรือหากไม่นับต้นเงินกู้ ดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในการกู้เงินที่รัฐบาลรับภาระ EBITDA ของ ขสมก.จะยิ่งติดลบมากขึ้น อยู่ที่ -3,620 ล้านบาท สรุปก็คือ ปัจจุบัน ขสมก. “ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้” แล้ว

ตามแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2564 ขสมก.มีหนี้เดิมที่จะครบกำหนดทั้งสิ้น 29,448.53 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องขยายเวลาการชำระ (roll-over) ออกไป เพราะ ขสมก.มีภาระหนี้สินและดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่มีการตั้งงบประมาณเพื่อชำระดอกเบี้ยได้บางส่วนเท่านั้น

ทั้งนี้ ขสมก.ได้ขอก่อหนี้ใหม่ 7,895.37 ล้านบาท เพื่อใช้เป็น “เงินทุนหมุนเวียน” เพื่อ 1) ชำระค่าเชื้อเพลิง ปี 2564 จำนวน 3,219.22 ล้านบาท 2) ชำระค่าเหมาซ่อม ปี 2564 จำนวน 1,642.90 ล้านบาท และ 3) เสริมสภาพคล่องทางการเงิน 3,033.25 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้ “กระทรวงการคลังค้ำประกัน”

โดยรัฐบาลได้อนุมัติไป แม้ว่า ขสมก.จะไม่มี “ความสามารถในการชำระหนี้” เพราะเห็นว่าเป็นการกู้เงินเพื่อแก้ไข “ปัญหาสภาพคล่อง” และ เพื่อให้ ขสมก.สามารถ “ให้บริการสาธารณะได้ตามนโยบายของรัฐบาล”

อย่างไรก็ดี พบว่า ปัจจุบันรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกับ ขสมก.ยังมีอีกถึง 3 แห่ง ที่ DSCR ต่ำกว่า 1 เท่า ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ม.), การเคหะแห่งชาติ (กคช.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่ EBITDA ติดลบหนักกว่า ขสมก.มาก

กรณี ร.ฟ.ท.นั้น มีความเป็นไปได้สูงว่าภาระหนี้กว่า 190,000 ล้านบาท คงหนีไม่พ้นที่จะต้องให้กระทรวงการคลังรับภาระมาด้วยเช่นกัน เพราะลักษณะแทบไม่ต่างไปจากกรณี ขสมก. ส่วนรัฐวิสาหกิจอีก 2 แห่งที่ DSCR ต่ำ หากไม่เร่งแก้ไข อนาคตก็คงหนีไม่พ้นต้องเดินตามรอยเดียวกัน