“ขับรถดี”…จ่ายเบี้ยแพง? ประกันหนุน คปภ. สร้างความเป็นธรรม

ขับรถดี
ภาพโดย Free-Photos จาก Pixabay

ปัจจุบันการคิดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ในเมืองไทยยังใช้วิธีการ ที่เรียกว่า “เฉลี่ยภัย” ส่งผลให้คนที่ขับรถดีต้องจ่ายเบี้ยแพง (กว่าที่ควร) เพื่อไปรองรับคนที่ขับรถไม่ดี

จากประเด็นดังกล่าว ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จึงได้เร่งศึกษาแนวทางการให้บริษัทประกันต้องให้ความสำคัญกับ “ประวัติบุคคล-พฤติกรรมผู้ขับขี่” โดยนำมาพิจารณาคำนวณเบี้ยประกันรถยนต์ จากเดิมเน้นที่ “ตัวรถ” เป็นหลัก เพื่อสะท้อนอัตราเบี้ยประกันที่ควรจะเป็นออกมา

โดย “ชูฉัตร ประมูลผล” รองเลขาธิการด้านกำกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ คปภ.กำลังเร่งศึกษาเรื่องดังกล่าวอยู่ เพื่อจะได้สะท้อนอัตราเบี้ยประกันที่แท้จริงออกมาได้ดีขึ้น

เพราะตามรายงานสถิติการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน (เคลมประกัน) ในแต่ละปี พบว่าผู้ขับขี่รถส่วนใหญ่กว่า 75% เคลมสินไหมต่ำกว่า 65% และผู้ขับขี่ประมาณ 15% เคลมสินไหมเกิน60% แต่ไม่ถึง 70% ในขณะที่ผู้ขับขี่แค่ 5% เท่านั้นที่เคลมสินไหมสูงเกิน 75% ซึ่งก่อให้เกิดเคลมในระบบสูงจนส่งผลต่อการปรับขึ้นเบี้ยทั้งระบบ

“คนที่เคลมสูงมีไม่มาก แต่กระทบต่อผู้ขับรถที่มีประวัติดี ดังนั้น ธุรกิจประกันภัยรถยนต์จึงควรประเมินข้อมูลเฉพาะ อาทิ เพศ, อายุ, อาชีพ, การศึกษา, สถานภาพ และพฤติกรรมการขับขี่ นอกเหนือจากยี่ห้อรถ, ปีการผลิต, สภาพการใช้งาน (เชิงพาณิชย์/ส่วนบุคคล) โดยปัจจุบันในต่างประเทศเริ่มใช้รูปแบบ parametric คือให้ลูกค้ากำหนดเงื่อนไขในกรมธรรม์ได้ด้วยตัวเอง เพื่อรับความคุ้มครองเฉพาะราย และติดตั้งอุปกรณ์ black box รวมเข้ากับเครื่องวัดความเร่งเพื่อเก็บข้อมูล เช่น ความเร็ว, การหักเลี้ยวรถ, ความรุนแรงในการเบรก ซึ่งถือว่าเก็บข้อมูลได้ค่อนข้างเชิงลึก” นายชูฉัตรกล่าว

Advertisment

ขณะที่ “อานนท์ วังวสุ” นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ตามแนวทางของ คปภ.หากจะดำเนินการต้องมีข้อมูลหรือมีการแชร์ประวัติผู้ขับรถไม่ดีระหว่างบริษัทประกันภัยร่วมกัน แต่ปัจจุบันยังทำได้ยากเพราะข้อมูลไม่เชื่อมกัน ทำให้ไม่มีมาตรการที่จะขึ้นเบี้ยคนที่ขับรถไม่ดีเวลา “ย้ายค่าย” ส่งผลให้บริษัทประกันในไทยขาดทุนกันไปหลายราย

ในขณะที่ต่างประเทศทำได้เพราะมีการกำหนดว่า หากจะไปทำประกันรถใหม่กับบริษัทอื่นจะต้องมีคำรับรองจากบริษัทประกันเก่าประกอบด้วย และมีการแชร์ข้อมูลการเคลมสูงระหว่างบริษัทประกัน ซึ่งภาครัฐและเอกชนต้องเร่งผลักดันระบบฐานข้อมูลกลางด้านประกันภัย (IBS) ให้เสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว

“เชื่อว่าแนวทางนี้ภายใน 4-5 ปีข้างหน้าคงจะเป็นไปได้ เพราะขณะนี้เริ่มเห็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพที่จะเข้ามาจับพฤติกรรมการขับขี่ และอาจต้องมีการกำหนดค่าเสียหายส่วนแรก (deductible) เพื่อให้คนมีความระมัดระวังในการขับรถมากขึ้น ซึ่งเครื่องมือที่มาช่วยจับพฤติกรรมก็จะเหมือนกำไลข้อมือคนป่วยเพื่อสะท้อนการจ่ายเบี้ยประกันตามที่ใช้จริง” นายอานนท์กล่าว

“วาสิต ล่ำซำ” ประธานคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า หลังจากนี้คงต้องมีการทำไกด์ไลน์และดำเนินการเชิงโครงสร้างกฎระเบียบในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะเป็นเรื่องใหญ่ ขณะที่ IBS ยังไม่สมบูรณ์เพราะมีข้อกังวลหลายด้านจากกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้ข้อมูลง่าย ๆ อย่างส่วนลดประวัติดี (no claim bonus : NCB) ก็ไม่มีการแชร์ให้กัน

Advertisment

“เป้าประสงค์หลักเราต้องการให้คนขับรถดีมีความสัมพันธ์กับเบี้ยประกันที่ถูกชาร์จ ส่วนเรื่องลดอัตราการเคลมในระบบเป็นเรื่องท้าย ๆ ที่จะตามมา” นายวาสิตกล่าว

“วาสิต” เสนอแนะว่า หากจะผลักดันให้ทำเรื่องนี้ได้เร็วโดยไม่ต้องมีอุปกรณ์มาเก็บสถิติ อาจทำในรูปแบบ “แอปพลิเคชั่น” ในสมาร์ทโฟน และยิ่งหากใช้เทคโนโลยี 5G ข้อมูล GPS tracking จะรวดเร็วมาก ทำได้หลายมิติ

“อาจเริ่มต้นข้อมูลกรมธรรม์เป็นชื่อเจ้าของรถ, ผู้เอาประกัน แต่ไม่ระบุชื่อผู้ขับขี่ก็ได้ แล้วต่อไปก็ต้องไปแก้โครงสร้างกรมธรรม์ประกันรถ และปรับพิกัดอัตราเบี้ยให้สอดคล้องกับการประยุกต์ใช้ NCB เฟสแรกอาจใช้ NCB ไปยึดโยงกับการขับขี่จริงของผู้เอาประกันก่อน” นายวาสิตกล่าว

ปิดท้ายที่ “กี่เดช อนันต์ศิริประภา” ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย บอกว่า ในต่างประเทศบริษัทประกันจะมีการจัดการกับลูกค้าที่ขับรถโดยขาดความระมัดระวัง โดยทำราคาเบี้ยให้เหมาะสมกับพฤติกรรม และเพื่อความเป็นธรรมกับผู้ที่ขับรถดี ส่วนในเมืองไทยเริ่มมีการนำ big data มาใช้ เช่น กรมธรรม์เปิด-ปิด, กรมธรรม์ตามไมล์ที่ขับขี่ หรือ area pricing เป็นต้น

นับจากนี้ข้อมูลเชิงสถิติรายบุคคลของผู้ที่ทำประกันภัยรถยนต์จะมีความสำคัญมาก เพราะเมื่อมีการนำไปใช้อย่างจริงจังจะทำให้ค่าเบี้ยประกันสะท้อนพฤติกรรมการขับขี่และมีความเป็นธรรมมากขึ้น