ธ.ก.ส. เล็งลดดอกเบี้ยลูกค้าชำระดี จัดมาตรการช่วยกลุ่ม “พักหนี้”

โลโก้ ธ.ก.ส. ธกส.

นายสุรชัย รัศมี รองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่าช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้ ธนาคารจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร พิจารณาอนุมัติโครงการ ชำระดีมีคืน สำหรับลูกค้าที่ชำระหนี้ดี โดยจะได้รับการลดอัตราดอกเบี้ยลงจากปกติ ซึ่งหากบอร์ดเห็นชอบแล้ว คาดว่าจะสามารถเริ่มได้ในช่วงต้นเดือน ธ.ค.นี้

“ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.เคยทำมาตรการชำระดีมีคืนมาแล้ว โดยลดอัตราดอกเบี้ยให้กับลูกค้าที่ชำระดี ประมาณ 20% ซึ่งได้คืนเงินให้ลูกค้าไปกว่า 5,000 ล้านบาทจากเกษตรกรที่ร่วมโครงการกว่า 1 ล้านราย ครั้งนี้ก็คาดว่าสูงสุดจะไม่เกิน20% เช่นกัน แต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ทั้งนี้ ถือเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับเกษตรกร” นายสุรชัยกล่าว

ภาพ : ข่าวสด

นอกจากนี้ ธนาคารได้มีการประเมินภาพรวมการกลับมาชำระหนี้หลังสิ้นสุดการพักชำระหนี้ในเดือน ก.ค. 2564 ว่า ลูกค้าเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการน่าจะกลับมาชำระได้ดีเกิน 50% เนื่องจากสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรหลายตัวปรับตัวดีขึ้น อาทิ ยางพารา เป็นต้น

นายสุรชัยกล่าวว่า ธนาคารได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าบางส่วน จากทั้งหมดที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ 3.25 ล้านราย ซึ่งสำรวจแล้วทั้งสิ้น 2.9 ล้านราย หรือคิดเป็น82% ของผู้ที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด ซึ่งที่เหลือคาดว่าจะสำรวจแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ ได้แบ่งลูกค้าออกเป็น 5 กลุ่ม

ประกอบด้วย สีเขียว ลูกหนี้ที่มีการชำระปกติ คิดเป็น 72% หรือ 2.09 ล้านราย จาก 2.9 ล้านรายที่สำรวจแล้ว, สีเหลือง กลุ่มที่ต้องปรับโครงสร้างหนี้ คิดเป็น 23% หรือ 6.7 แสนราย,สีส้ม กลุ่มที่ต้องฟื้นฟูอาชีพ และได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติม คิดเป็น 3% หรือ 9.8 หมื่นราย, กลุ่มสีแดง กลุ่มที่ต้องลดหนี้ คิดเป็น 2% หรือ 4.3 หมื่นรายและกลุ่มสีดำ หรือกลุ่มที่ต้องตัดเป็นหนี้สูญ มีจำนวน 1,500 ราย

Advertisment

ทั้งนี้ หลังจัดชั้นหนี้แล้ว ธนาคารจะเร่งหามาตรการดูแลลูกหนี้ที่ต้องช่วยเหลือเพิ่มเติม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังที่ต้องการให้เข้าไปดูแลลูกหนี้หลังจากสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ และผ่อนปรนการชำระหนี้ต่อไป ซึ่งธนาคารมีสภาพคล่องเพียงพอในการช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งนี้ เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS ratio) ล่าสุดอยู่ที่ 13.2%

“ส่วนสถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) คาดว่าปีบัญชี 2563 จะไม่แตกต่างจากสิ้นปีบัญชี 2562 ที่อยู่ระดับ4.03% ซึ่งขณะนี้สถานการณ์หนี้ NPL ณ 30 ก.ย. 2563 ยังทรงตัวอยู่ที่ระดับ 3.95% จากพอร์ตหนี้ทั้งหมด 1.5 ล้านล้านบาท เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในช่วงมาตรการพักชำระหนี้ แต่เชื่อว่าหลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ ก็จะไม่กระทบ NPL เพิ่มขึ้น เพราะธุรกิจยังสามารถเดินหน้าไปได้” นายสุรชัยกล่าว