เขย่าวงการ! กรุงศรีฯ ยืดหนี้ยาว 96 เดือนอุ้มรายย่อย

หนี้

กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ลุยช่วยลูกหนี้รายย่อยปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ย-ยืดเทอมการชำระนานถึง 96 เดือน สูงสุดในระบบจาก 48 เดือน รับมือหลังหมดมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 2 จบสิ้นปี 63 ชี้ ลูกหนี้เข้าโครงการแล้ว 3.2 หมื่นบัญชี มูลหนี้ 2.5 พันล้านบาท เผยเริ่มเห็นหนี้เอ็นพีแอลปูด Q1/64 จากปีนี้ขยับไม่เกิน 2.5% คาดยอดใช้จ่ายผ่านบัตรปี 63 แตะ 2.8 แสนล้านบาท

นางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยว่า ตอนนี้บริษัทได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่องภายหลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 ตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะครบภายในสิ้นปีนี้ โดยมาตรการที่นำมาช่วยเหลือจะเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) โดยการลดดอกเบี้ย และปรับยืดระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ให้ยาวถึง 96 เดือน ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในระบบ และสูงที่สุดตั้งแต่ที่บริษัทเคยมีในอดีตจากปกติที่กำหนดระยะเวลาชำระหนี้เพียง 48 เดือนเท่านั้น

ณญาณี เผือกขำ

ทั้งนี้ มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ TDR บริษัทเริ่มทำมาตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา ปัจจุบันมีลูกค้าที่เข้าโครงการแล้วกว่า 3.2 หมื่นบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ราว 2,500 ล้านบาท

“มาตรการ TDR เป็นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่องเป็นโครงการที่สามหากลูกค้ายังไม่สามารถกลับมาชำระได้ตามปกติภายหลังจากมาตรการแรกที่เราพักหนี้ให้ลูกค้าเป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งมีลูกค้าเข้าโครงการรวม 1 ล้านบัญชี และหลังจากหมดมาตรการในเดือนกรกฎาคมพบว่ามีลูกค้ากลับมาชำระหนี้ได้พอสมควร โดยมีลูกค้าที่ไม่ไหวและเข้ามาตรการช่วยเหลือผ่านโครงการรีไฟแนนซ์ต่อเพียง 9.3 หมื่นบัญชี มูลหนี้ราว 4,200 ล้านบาท”

ดังนั้น แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทิศทางคงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านมาตรการต่างๆ จึงเห็นการขยับเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่จะไปขึ้นการเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 โดยขณะนี้เอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.25% และคาดว่าภายในสิ้นปีจะขยับเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2.5% อย่างไรก็ดี แม้ว่ามีทิศทางเอ็นพีแอลลดลงบ้าง เนื่องจากยังมีประเด็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจนอกเหนือจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งผลไปยังรายได้ลูกหนี้ให้ปรับลดลง

นางสาวณญาณี กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวโน้มธุรกิจในไตรมาสที่ 4 มองว่าอัตราการเติบโตเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากมาตรการของภาครัฐที่เข้ามาช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย โดยคาดว่ายอดใช้จ่ายจะเติบโตอยู่ที่ 25% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 โดยทั้งปี 2563 จะมีใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (Spending) อยู่ที่ 2.8 แสนล้านบาท หรือ -11% และมียอดสินเชื่อปล่อยใหม่อยู่ที่ 8.3 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น -15% และมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.44 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต -3% จากปีก่อน

“ขณะที่ภาพรวมไตรมาสที่ 3 ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตอยู่ที่ 1.96 แสนล้านบาท และมียอดปล่อยสินเชื่อใหม่อยู่ที่ 5.8 หมื่นล้านบาท และมียอดคงค้างอยู่ที่ 1.33 แสนล้านบาท ยอมรับว่าตัวเลขยังออกมาติดลบอยู่บ้าง อย่างไรก็ดี หมวดการใช้จ่ายที่เห็นการเติบโตโดดเด่นมาก จะเป็นหมวดประกันสุขภาพที่เห็นการซื้อประกันผ่านบัตรมากขึ้น และไฮเปอร์มาร์เก็ต ส่วนกลุ่มที่มีการล็อกดาวน์และเห็นการเติบโตสูง จะเป็นหมวดการซื้อขายออนไลน์ที่เติบโต 150% แม้ว่าหลังคลายล็อกการเติบโตจะลดลงเหลือเพียง 75% แต่ถือว่ายังโตได้ดีอยู่ ส่วนหมวดที่ดร็อปลงชัดเจน จะเป็นร้านค้าในประเทศที่ช่วงล็อกดาวน์และหมวดใช้จ่ายในต่างประเทศ”

ทั้งนี้ สิ่งที่บริษัทต้องปรับตัวในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อประคองธุรกิจนั้น คือ 1.การช่วยเหลือลูกค้าผ่านมาตรการช่วยเหลือต่อเนื่องจากปีนี้ถึงปี 2564 และ 2.การปล่อยสินเชื่อใหม่จะต้องควบคุมคุณภาพลูกค้าใหม่ โดยจะต้องมีความชัดเจน ซึ่งจากปีนี้ลูกค้ารายใหม่อยู่ที่ 5 แสนราย ปรับลดลงราว -44% ถือว่าค่อนข้างเยอะนับตั้งแต่ทำธุรกิจมา

และ 3.การประหยัดค่าใช้จ่ายผ่านการดึงเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะแอปพลิเคชั่น “UCHOOSE” ที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันลูกค้าสามารถตรวจสอบยอดชำระบัตรเครดิตและสินเชื่อ การเชื่อมบริการจ่ายบิลผ่านแอป KMA และ SCB ได้แล้ว โดยปัจจุบันมีฐานลูกค้าใช้บริการแล้วประมาณ 5.3 ล้านบัญชี จากฐานลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งหมดที่มีอยู่ราว 8-9 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดการใช้บริการสม่ำเสมอ (Active) 76%