สรรพสามิตรื้อโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ตอบโจทย์ 4 ด้าน

ลวรณ แสงสนิท
ลวรณ แสงสนิท

สรรพสามิตรื้อโครงสร้างภาษียาสูบใหม่ เร่งศึกษาตอบโจทย์ “ดูแลเกษตรกร-รายได้รัฐ-สุขภาพประชาชน-ปราบปรามบุหรี่เถื่อน” พร้อมหนุนเกษตรกรชาวไร่ยาสูบปลูกพืชทดแทน ชี้ปลูก “ข้าวโพด” ดีที่สุด รัฐรับประกันรายได้พร้อมดึง “เลย์” ทำสัญญารับซื้อ “มันฝรั่ง” หวังช่วยบรรเทาผลกระทบหลังปรับโครงสร้างภาษีใหม่ ขณะที่ปีงบประมาณ 2563 เก็บภาษียาสูบต่ำเป้าถึง 1.5 หมื่นล้านบาท จากผลกระทบโควิด-19

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดการปรับโครงสร้างภาษียาสูบ หลังจากก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติเลื่อนการขึ้นภาษียาสูบเป็น 40% จากเดิมที่จัดเก็บที่ 20% อีกเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งจะไปเริ่มจัดเก็บภาษีอัตรา 40% ในวันที่ 1 ต.ค. 2564

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องพิจารณาในรายละเอียดให้ชัดเจน เพื่อให้การปรับปรุงโครงสร้างภาษี ตอบโจทย์ใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การดูแลเกษตร 2.รายได้ของรัฐบาล 3.สุขภาพของประชาชน และ 4.การปราบปรามบุหรี่เถื่อน ทั้งนี้ ยืนยันว่าจะพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ให้มีความเหมาะสมมากที่สุด

“การประกาศชะลอขึ้นภาษียาสูบออกไปทีละปีเป็นวิธีการที่ไม่ควรทำ เพราะเป็นการซื้อเวลา ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด จึงได้สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำการบ้าน เพื่อปรับโครงสร้างภาษียาสูบให้ตอบโจทย์ใน 4 เรื่องหลัก ส่วนจะมีการลดหรือปรับเพิ่มอัตราภาษีบุหรี่หรือไม่อย่างไรนั้น จะต้องพิจารณาประกอบผลกระทบต่อรายได้รัฐ ซึ่งจะทำให้ชัดเจนและมีความเหมาะสมมากที่สุด” นายลวรณกล่าว

ส่วนกรณีข้อเรียกร้องของเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบที่ขอเงินชดเชยเพิ่มเติม และการปลูกพืชทดแทน เพราะมีรายได้ลดลง หลังมีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่นั้น ได้รับทราบปัญหาและได้มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการส่งเสริมเกษตรให้ปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนการปลูกยาสูบ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ไปแล้ว

โดยพบว่าเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจริง 38,000 ไร่ ซึ่งเดิมเคยปลูกยาสูบได้ 100% แต่ปัจจุบันปลูกได้เพียง 70% เนื่องจาก ยสท.ลดโควตารับซื้อ จึงทำให้รายได้หายไป 30%

นอกจากนี้ ได้มีการกำหนดแนวทางการปลูกพืชทดแทนยาสูบ ซึ่งมี 10 ชนิด เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว มันฝรั่ง หอมแดง เป็นต้น แต่เบื้องต้นคาดว่าการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เนื่องจากเป็นพืชที่ทนแล้ง ปลูกได้ทุกภูมิภาค ทุกสภาพภูมิอากาศ

และที่สำคัญยังเป็นพืชที่อยู่ในโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลด้วย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีแน่นอน มีความเสี่ยงน้อยกว่าพืชอื่น ส่วนการปลูกพืชทดแทนชนิดอื่นได้ให้กระทรวงพาณิชย์ไปศึกษาต่อว่า แนวโน้มราคาและตลาดรองรับเป็นอย่างไร ก่อนจะหาข้อสรุปอีกครั้ง

นายลวรณ กล่าวด้วยว่า กรมยังได้เตรียมเสนอแนวทางการทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งมาช่วยเกษตรกรในการปลูกพืชทดแทน โดยจะให้ผู้ผลิตขนมมันฝรั่งทอดชื่อดังอย่างเลย์มาทำสัญญารับซื้อโดยตรง เนื่องจากขณะนี้โรงงานเลย์ก็ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบอยู่

ซึ่งจะช่วยให้ชาวไร่ยาสูบมีตลาดรับซื้อและรายได้ที่แน่นอน เบื้องต้นทราบว่าผู้ผลิตเลย์ยังมีความต้องการพื้นที่เพาะปลูกอีกประมาณ 3,000 ไร่ หรือคิดเป็น 10% ของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการรับซื้อยาสูบ

“แนวทางการช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบที่ได้รับผลกระทบ จะต้องได้ข้อสรุปรวดเร็วภายในปีนี้เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้วางแผนเพาะปลูกได้ในช่วงต้นปีหน้า เพราะตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.พ. 64 ก็จะเริ่มฤดูกาลปลูกพืชทดแทนหรือยาสูบกันแล้ว แต่จะต้องมีการเสนอให้ รมว.คลังพิจารณาด้วย

ขณะเดียวกัน ยสท.จะต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรถึงวิธีการปลูก กรมส่งเสริมการเกษตรจะช่วยลงพื้นที่ไปให้ความรู้ในเรื่องนี้ด้วย” นายลวรณกล่าว

นายลวรณกล่าวถึงข้อร้องเรียนของชาวไร่ยาสูบที่ต้องการให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยในปีนี้เพิ่มเติม จากการได้รับเงินเยียวยาเกษตรกรก่อนหน้านี้ 15,000 บาท (เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน) ด้วยว่า เป็นเรื่องที่ระดับนโยบายที่จะต้องพิจารณาตัดสินใจ ส่วนกรมสรรพสามิต มีหน้าที่ในการจัดทำข้อมูล

ทั้งการช่วยเหลือระยะสั้นและระยะยาว เพื่อประกอบการตัดสินใจของระดับนโยบาย ซึ่งพยายามจะให้ได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมสรรพสามิตได้มีการประกาศเลื่อนขึ้นอัตราภาษีบุหรี่จาก 20% เป็น 40% ออกไปอีก 1 ปีติดต่อกันถึง 2 ปีแล้ว เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรชาวไร่ยาสูบให้มีการปรับนโยบายภาษีสรรพสามิตยาสูบใหม่ โดยมองว่าการปรับขึ้นอัตราภาษียาสูบไม่ได้ส่งผลให้การสูบบุหรี่ลดลง และยังสร้างผลกระทบให้แก่อุตสาหกรรมยาสูบอย่างรุนแรง

รายงานจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา (ต.ค. 2562-ก.ย. 2563) กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษียาสูบได้ 62,905 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการไป 15,395 ล้านบาท หรือ 19.7% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 6.7% เนื่องจากปริมาณยาสูบที่ชำระภาษีขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ ภาษียาสูบมีสัดส่วน 11.5% ของรายได้ที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บทั้งหมด ส่วนภาษีที่มีสัดส่วนมากที่สุด คือ ภาษีน้ำมัน 41% รองลงมาคือ ภาษีรถยนต์ 16% และภาษีเบียร์ 14.5% ส่วนภาษีสุราสัดส่วนอยู่ที่ 11%