หอการค้าไทย ชี้แจกเงิน 7 พันบาท หนุนเศรษฐกิจปี’64 โต 2.5%

โครงการเราเที่ยวด้วยกัน

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้มาตรการที่รัฐออกมาเหมาะสมกับสถานการณ์แจกเงิน 7,000 หนุนเศรษฐกิจโต 2.5% แนะหากโควิดคลี่คลายหลัง มี.ค.64 รัฐควรใช้โครงการ “คนละครึ่ง-เราเที่ยวด้วยกัน” ต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 หนุนบริโภคในประเทศ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า มาตรการที่รัฐบาลออกมาเป็นกรอบที่ดำเนินการเหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งการจ่ายเงิน 7,000 บาท/คน หากเปิดให้ลงทะเบียน 15 ล้านคน จะมีเม็ดเงินลงระบบเศรษฐกิจ 1 แสนล้านบาท จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.5-0.6% ซึง่จะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 2.5% จากเดิมที่ ม.หอการค้าไทย คาดว่าหลังโควิด-19 ระบาดรอบนี้ จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวที่ 2.2%

“ที่ผ่านมาเราประเมินความเสียหายจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ อาจจะมีผลกระทบประมาณ 1 เดือนครึ่ง จึงประเมินว่าความเสียหายในรอบนี้จะอยู่ที่ 1.2-1.5 แสนล้านบาท แต่ถ้าสถานการณ์ยังยืดเยื้อไปกว่านี้อาจจะมีความเสียหาย 3-4 แสนล้านบาท หมายความว่าทิศทางเศรษฐกิจจะซึมตัวลง จึงทำให้ ม.หอการค้าไทย ปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจลง จาก 2.8% เหลือ 2.2% แต่เมื่อรัฐได้ออกมาตรการดูแลประชาชน จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 2.5%”

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ช่วงหลังเดือน มี.ค.64 รัฐบาลควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติม ทั้งโครงการคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกัน เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ฉะนั้น ควรมีมาตรการดังกล่าวออกมาทั้งไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ของปี 2564 เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว และการบริโภคภายในประเทศ

นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญกับงบการลงทุนด้วย ซึ่งควรมีการสนับสนุนจัดซื้อจัดจ้างวัตถุดิบในประเทศ และในท้องถิ่น เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนอีกช่องทางหนึ่ง รวมทั้งให้หน่วยงานรัฐมีการจัดงานสัมมนาต่างจังหวัด เพื่อให้มีรายได้ลงสู่ประชาชน

ทั้งนี้ ต้องมีการดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากหากมีวัคซีนเข้ามาแล้ว คาดว่าไตรมาส 2 การส่งออกจะดีขึ้น จึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และต้องดูแลรวมถึงการปล่อยสินเชื่อต่ำให้กับผู้ประกอบการ พ่วงเงื่อนไขรักษาการจ้างงาน เป็นต้น