ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยประเทศไทยทำมาตรการ QE ได้ แต่ไม่ตอบโจทย์

เงินบาท-ธนบัตร
REUTERS/Athit Perawongmetha/File Photo
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
เรื่อง มาตรการ QE กับการช่วยประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย?
  • มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เป็นเครื่องมือนโยบายการเงินแบบพิเศษ ซึ่งธนาคารกลางหลายประเทศที่เป็นแกนหลักของโลกและบางประเทศในเอเชียนำมาใช้เพื่อช่วยรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจ หลังจากที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ใกล้ระดับ 0% แล้ว โดยรูปแบบและขนาดของการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินภายใต้มาตรการ QE มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะขอบเขตของปัญหา และบริบทของระบบเศรษฐกิจการเงินในแต่ละประเทศ
  • สำหรับประเทศไทย พื้นที่สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลืออีกไม่มาก ขณะที่จังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนและต้องใช้เวลา ซึ่งเท่ากับว่า มาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการคลังยังคงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยลดทอนผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ และสนับสนุนให้กลไกการทำงานของเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ ทยอยฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้นแล้ว อาจมีความจำเป็นที่ทางการไทยต้องมองหาเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ มาช่วยเสริมกลไกการทำงานของนโยบายการเงินเพิ่มเติม
  • หากประเมินเฉพาะในส่วนของมาตรการซื้อสินทรัพย์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีข้อสังเกตว่า หากมองในมิติทางกฎหมาย มาตรการซื้อสินทรัพย์หรือการทำ QE อาจสามารถเกิดขึ้นได้ในไทย แต่จะต้องมีการสื่อสารถึงเหตุผลความจำเป็นและรายละเอียดของมาตรการอย่างชัดเจนต่อสาธารณะ และจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับบริบทของระบบเศรษฐกิจการเงินไทย โดยเฉพาะประเด็นด้านความเชื่อมั่นและเสถียรภาพของค่าเงินบาท
  • นอกจากนี้ QE อาจยังเป็นคำตอบที่ไม่ตรงกับโจทย์ปัญหาของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ เพราะปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่ระดับสภาพคล่องของระบบการเงิน แต่อยู่ที่การกระจายสภาพคล่องอย่างเหมาะสมและทันสถานการณ์ไปยังภาคส่วนที่มีความต้องการซึ่งปัจจุบันมีปัญหาการขาดรายได้และความเสี่ยงด้านเครดิตสูงกว่าปกติ ดังนั้นแล้ว กลไกความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและมาตรการด้านสินเชื่ออื่นๆ น่าจะให้ประสิทธิผลที่ดีกว่าในเวลานี้