ยื่นคลังไฟเขียวออกบาทบอนด์ ชี้ต่างชาติสนใจ 2 รายวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท

ผู้อำนวยการ สบน.ชี้ต่างชาติยื่นคำขอออก “บาทบอนด์” 2 ราย วงเงินรวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท หลังเปิด “รอบพิเศษ” ผ่อนปรนเงื่อนไขให้ “แลกสปอต” เป็นดอลลาร์สหรัฐได้ คาดได้ข้อสรุปชง รมว.คลัง ไฟเขียวได้ใน 30 ต.ค.นี้ เผยสถาบันการเงินต่างชาติแห่ชวนไทยออก “ดอลลาร์บอนด์” พร้อมชี้แจงยังไม่จำเป็นในขณะนี้

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากกระทรวงการคลังได้เปิดรอบพิเศษให้นิติบุคคลต่างประเทศที่สนใจออกพันธบัตร หรือหุ้นกู้สกุลเงินบาท (บาทบอนด์) ยื่นคำขอรับการอนุญาตเป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. จนถึงวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยหากได้รับการอนุญาตจาก รมว.คลัง ก็จะต้องดำเนินการออกบาทบอนด์ให้เรียบร้อยภายในช่วงวันที่ 1 พ.ย. 2560 จนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2561 ซึ่งทางกระทรวงการคลังได้ผ่อนปรนเงื่อนไขให้นิติบุคคลต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตสามารถใช้เงินที่ได้รับจากการออกบาทบอนด์ได้ใน 2 กรณี คือ 1) ใช้เป็นเงินบาทในประเทศไทย และ 2) แลกสปอตเป็นดอลลาร์สหรัฐ หรือธุรกรรมซื้อ USD/THB (Spot USD) ได้

ประภาศ คงเอียด

ทั้งนี้ ปรากฏว่ามีนิติบุคคลต่างประเทศ สนใจยื่นคำขอรับการอนุญาตเข้ามาด้วยกันทั้งสิ้น จำนวน 2 ราย โดยมีทั้งนิติบุคคลต่างประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และนิติบุคคลต่างประเทศที่อยู่นอกกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งวงเงินทั้ง 2 ราย รวมกันอยู่ที่ประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท

“ขณะนี้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณา น่าจะได้ข้อสรุปเสนอ รมว.คลัง และสามารถประกาศผลได้ในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ ว่าจะอนุญาตให้ทั้ง 2 รายนี้หรือไม่ ทั้งนี้ หากได้รับอนุญาต นิติบุคคลต่างประเทศก็จะสามารถแลกสปอตเป็นดอลลาร์สหรัฐได้ แต่ทำสวอป (swap) ไม่ได้” นายประภาศกล่าว

นายประภาศกล่าวว่า การที่นิติบุคคลต่างประเทศที่ยื่นขออนุญาตเข้ามามีเพียง 2 ราย อาจจะเป็นเพราะกระทรวงการคลังให้เวลายื่นเรื่องแค่เดือนเดียว เนื่องจากเปิดเป็นรอบพิเศษ จากปกติที่เปิดให้ยื่นปีละ 3 ครั้ง และผู้กำกับนโยบายไม่ต้องการให้เปิดรับคำขอนานเกินไป ดังนั้นจึงต้องประเมินผลหลังจากนี้ด้วยว่า เมื่อเอกชนที่ได้รับอนุญาตไปออกบาทบอนด์ในช่วงเวลาที่กำหนดแล้ว จะส่งผลต่อค่าเงินบาทอย่างไร

Advertisment

“เนื่องมาจากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาก จึงอยากช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาท ซึ่งถ้าเป็นในช่วงปกติก็คงจะไม่เปิดรอบพิเศษแบบนี้ โดยก็ต้องดูว่าผลต่อค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไร” นายประภาศกล่าว

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการ สบน.กล่าวด้วยว่า จากที่ตนได้ไปร่วมเวทีการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประจำปี 2560 เมื่อช่วงวันที่ 12-14 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการพูดคุยกับสถาบันการเงินต่างประเทศหลายแห่ง ในประเด็นเกี่ยวกับบาทบอนด์ โดยสถาบันการเงินเหล่านั้นมีความพยายามชักชวนให้ประเทศไทยไปออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศ อาทิ ดอลลาร์บอนด์ เป็นต้น อย่างไรก็ดีได้ชี้แจงไปว่า ปัจจุบันสภาพคล่องในระบบของประเทศไทยอยู่ระดับสูง จึงยังไม่จำเป็นต้องไปออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศในขณะนี้

“บางสถาบันการเงินก็บอกว่า ควรจะออก เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เหมือนบางประเทศ แต่ประเด็นนี้ เราก็เห็นว่าไม่จำเป็น เพราะต้นทุนการออกพันธบัตรในประเทศเราดีกว่า” ผู้อำนวยการ สบน.กล่าว