TMB จี้รื้อโครงสร้างประเทศ ฉีดวัคซีน 6 เข็มปิดจุดอ่อน

การเกิดวิกฤตนับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะมาทบทวนว่าควรปรับเปลี่ยนอย่างไร เพื่อป้องกันหรือพร้อมรับมือกับวิกฤตครั้งต่อ ๆ ไปได้ดีขึ้น โดยในงานสัมมนา “วัคซีนเศรษฐกิจ วัคซีนประเทศไทย” ที่ทาง “ประชาชาติธุรกิจ” จัดขึ้น เมื่อเร็ว ๆ นี้

วิทยากรคนสำคัญอย่าง “ปิติ ตัณฑเกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) ที่มีบทบาทอย่างมาก ทั้งในฐานะกรรมการสมาคมธนาคารไทย และประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ได้นำเสนอประเด็นต่าง ๆ เพื่อรับมือวิกฤตไว้อย่างน่าสนใจ

 

หลังวิกฤต-ไทยสิ้นสุดทางเลื่อน

โดย “ปิติ” เปิดภาพว่า วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ถือว่าสุดสิ้นทางเลื่อน เพราะหลังวิกฤต ไทยจะต้องตื่นตัว ปรับตัว เพื่อให้เศรษฐกิจโตได้ตามศักยภาพ จากที่ผ่านมายังโตต่ำกว่าศักยภาพ

ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ เหตุใดไทยจึงมีมูลค่าเศรษฐกิจต่อประชากร (GDP per capita) อยู่อันดับที่ 70-80 เรียกว่าหายใจรดต้นคอประเทศกาบองเลยทีเดียว ทั้งนี้ มองว่าไทยมีจุดอ่อน 6 ด้าน ที่ต้องมีวัคซีนป้องกัน ได้แก่ 1.โครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาการจ้างงานจากธุรกิจเอสเอ็มอีค่อนข้างมาก

ซึ่งเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างเปราะบาง 2.ธุรกิจไทยมีโครงสร้างที่เหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาเกือบ 20 ปี 3.โครงสร้างรายได้ การจัดเก็บภาษีของรัฐบาลค่อนข้างกระจุกตัว ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 4.เศรษฐกิจไทยกระจุกตัวไม่กี่จังหวัด 5.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ยังไม่ใช่สำหรับอนาคตของประเทศ และ 6.ความสะดวกในการทำธุรกิจของไทยยังมีปัญหาอยู่มาก

ถึงเวลาปรับโครงสร้างจ้างงาน

ทั้งนี้ “ปิติ” บอกว่า ปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่มีการจ้างงานราว 13% ส่วนเอสเอ็มอีจ้างงาน 46% ภาคเกษตร 32% ที่เหลือ 9% อยู่ในภาครัฐ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมูลค่า 6 ล้านล้านบาท บริษัทใหญ่ยังเป็นหัวรถจักรเหล็กในการขับเคลื่อนกว่า 80% ส่วนอีก 20% เป็นเอสเอ็มอี ดังนั้น จากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ประมาณ 15.7 ล้านล้านบาท จะเห็นว่าบริษัทขนาดใหญ่มีการสร้างรายได้ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจราว 43% ขณะที่เอสเอ็มอีก็สร้างรายได้ใกล้เคียงกันที่ 42.4%

“ผมไม่อยากให้สนใจคำว่าจีดีพีมาก จีดีพีเหมือนรายได้ เราอยากมีรายได้เยอะ ๆ แต่มีกำไรน้อย ๆ ไหม อย่างตอนนี้เราส่งออกรถยนต์ ดีใจได้จีดีพี แต่ถามว่ามันตกอยู่ในมือคนไทยเท่าไหร่

ถ้าเทียบกับธุรกิจโรงแรมที่รายได้อยู่ในมือคนไทยแทบทั้งหมด ดังนั้น ถ้าใช้คนจำนวนมากแต่ได้เงินน้อยเพราะว่าผลิตจีดีพีเท่ากับบริษัทใหญ่ ซึ่งรายได้ถูกส่งไปยังผู้ถือหุ้น ถูกส่งไปยังพนักงานบางส่วน จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ GDP per capita ของคนไทยยังต่ำ ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่เรามีความอ่อนแอ และต้องการวัคซีน”

ต้องแก้ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก”

“ปิติ” บอกว่า การทำธุรกิจในไทยควรปรับไปเป็นระบบนิเวศแบบ “ดอกไม้กับแมลง” ที่ต้องพึ่งพากัน ขาดกันไม่ได้แต่ปัจจุบันยังเป็น “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” แข่งขันกันเองเป็นส่วนใหญ่ และยังหลงประเด็นว่าต้องส่งออกเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพราะหากมองประเทศจีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศส่งออกชั้นนำของโลก แต่เศรษฐกิจอยู่ได้ด้วยการบริโภคท้องถิ่น

“ถ้าอยากจะให้คนไทยมีฐานะที่ดีขึ้น เอสเอ็มอีจะต้องมีแต้มต่อ ซึ่งต้องให้รายใหญ่หนุนรายเล็ก เพิ่มรายได้ให้กับลูกจ้างเอสเอ็มอี 17 ล้านคน และส่งเสริมการลงทุนให้เอสเอ็มอี รวมไปถึงเพิ่มบทบาทเอสเอ็มอีต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ เช่น สินค้าเกษตร จำเป็นต้องแปลงไปโปรดักต์ที่มีมูลค่าเพิ่ม (value added) และถ้าจะทำเกษตรส่งออกต้องปรับโครงสร้างจากเกษตรอุตสาหกรรมไปเป็นเกษตรแปลงใหญ่”

รื้อโครงสร้างภาษีใหม่

ขณะที่ในด้านภาษี ปัจจุบันสมมุติมีบริษัท 100 บริษัท แต่เสียภาษีแค่ 10 บริษัท ส่วนที่เหลือจดทะเบียนขาดทุนกันหมด พูดง่าย ๆ คือหนีภาษี เช่นเดียวกับคนมีรายได้ 38 ล้านคน แต่เสียภาษีแค่ 4.5 ล้านคน

ถือว่าเปราะบางมาก เพราะถ้าธุรกิจนั้นเสียความสามารถในการแข่งขัน หรือผู้ที่มีรายได้มากและเสียภาษีอยู่ อาทิ นักบิน, แอร์โฮสเตส เป็นต้น คนเหล่านี้ตกงาน ภาษีเงินได้ก็จะหายหมด ขณะที่รายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการบริโภคลดลง จาก

ทั้งนักท่องเที่ยวที่มาซื้อของในไทย ดังนั้นก็ควรจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่

“ปิติ” เสนอว่าควรต่อยอดแอปพลิเคชั่น“เป๋าตัง” โดยให้ผู้ที่เติมเงินเข้าไปในแอป แล้วนำเงินไปซื้อสินค้าจากเอสเอ็มอีสามารถหักภาษีได้ ลักษณะเดียวกับการซื้อกองทุนรวมเพื่อการออม (LTF) ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัล

ทั้งนี้ เอสเอ็มอีต้องอยู่ในระบบ นอกจากนี้ หากธุรกิจรายใหญ่ที่ซื้อวัตถุดิบจากเอสเอ็มอีก็ให้สามารถนำค่าใช้จ่ายไปหักภาษีได้เพิ่ม 2 เท่า ถ้าทำได้ แปลว่ารายใหญ่จะหันไปหาพันธมิตรที่เป็นเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ ไปช่วยจูงมือเอสเอ็มอีขึ้นมา เปรียบเหมือน “ดอกไม้กับแมลง”

หนุนท้องถิ่นส่งออกสินค้าแปรรูป

ทั้งนี้ เพื่อแก้เศรษฐกิจที่กระจุกตัวอยู่แค่ 5-17 จังหวัด “ปิติ” บอกว่า ต้องหันมาส่งออกสินค้าแปรรูป และทำให้ธุรกิจภูมิภาคเติบโตภายใต้จุดแข็งของตัวเอง โดยการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น

และสนับสนุนให้ท้องถิ่นพัฒนาไปในทิศทางที่เหมาะกับบริบท ยกตัวอย่าง สินค้าเกษตร คนญี่ปุ่นเปลี่ยนข้าวเป็นสาเก คนฝรั่งเศสและสหรัฐ เปลี่ยนองุ่นเป็นไวน์ ซึ่งเกษตรแปลงเล็กสามารถปลูกข้าวได้และเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวได้

ส่วนเกษตรอุตสาหกรรมก็เห็นได้จากผู้ผลิตถุงมือยางที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่เพียงแค่บริษัทเดียวมีมูลค่าเท่ากับครึ่งหนึ่งของยอดส่งออกยางทั้งประเทศ

เร่งลงทุนดิจิทัลเพื่ออนาคต

“ปิติ” กล่าวอีกว่า ประเทศไทยจะต้องเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลใน 3 ด้าน คือ 1.การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (national digital ID) ซึ่งจะทำให้สามารถทำธุรกรรมได้โดยไม่ต้องไปที่สาขาแบงก์อีกต่อไป และ 2.digital document

ซึ่งจะเป็นช่องทางที่อำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ และ 3.digital payment การชำระเงินและการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หากลงทุนครบทั้งหมด จะนำไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ (new S-curve) ได้อย่างเป็นรูปธรรมขึ้น

ทั้งนี้ การมุ่งไปสู่ new S-curve ของไทย มองว่า S-curve ไม่จำเป็นต้องทำเรื่องใหม่ แต่ขึ้นกับว่าจะต่อยอด S-curve ที่มีอยู่อย่างไร และจากอะไร เน้นต่อยอดออกไปทางซ้ายและขวา ไม่ต้องก้าวกระโดดไปทำเรื่องใหม่ เช่น ไทยเด่นในเรื่องท่องเที่ยวและอาหาร จะทำอย่างไรให้ท่องเที่ยวมีมูลค่าเพิ่ม

โดยจะต้องทำควบคู่ไปกับการรับมือสังคมสูงอายุ (aging society) ดูว่ามีธุรกิจอะไรที่สามารถให้คนสูงวัยสามารถทำงานได้ เช่น ภาคบริการ เป็นต้น เนื่องจากคนไทยเก่ง และเสน่ห์ทางด้านอาหาร จะทำอย่างไรให้เหมือนร้านเจ้ไฝ

หรือกลุ่มโรงพยาบาล ที่ไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่คนต่างประเทศจะมารักษา แต่อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ส่วนใหญ่ยังเป็นของต่างประเทศ ดังนั้น ทำอย่างไรให้ไทยสามารถผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ได้เอง

หรือแม้แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ดีอยู่แล้ว จะสามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่นได้อย่างไร เช่น ไบโอ หรือโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งจะสร้างงานให้กับเอสเอ็มอีได้มาก

แก้ กม.ทะลุทะลวงอุปสรรคธุรกิจ

นอกจากนี้ ช่วงที่มีโควิด-19 ระบาด จะเห็นว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก คือ ท่องเที่ยว-โรงแรม ซึ่งภาครัฐจะมีการช่วยเหลือ แต่พบว่าโรงแรมจำนวนมากไม่มีใบอนุญาต

และหากไปดูจะพบว่า ขั้นตอนกระบวนการการขอใบอนุญาตยุ่งยาก และมีอย่างน้อย 8 หน่วยงาน ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์อันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งหากเทียบกับประเทศอินโดนีเซียที่หากต้องการแก้กฎหมายจะปักธงไว้เลยว่า จะแก้อะไร และออกกฎหมายแนวนอนให้ทะลุทุกกระทรวง

เรียกว่า “omnibus law” เป็นการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เดียว ทำให้ลดงานที่ซ้ำซ้อนของรัฐ เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้รับบริการที่ดีขึ้น

“เพราะการทำให้ถูกกฎหมายค่อนข้างยาก ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาต เพราะรู้สึกว่าการทำมีหลายขั้นตอนและกระบวนการยุ่งยาก ซึ่งไม่มีใครไม่อยากมีใบอนุญาตหรอก แต่ด้วยขั้นตอนที่ยุ่งยาก และการบังคับใช้กฎหมายก็แย่ และการทำให้ถูกกฎหมายก็ยาก ดังนั้น ผู้ประกอบการก็เลยคิดว่า อย่าไปทำเลยดีกว่า”

ทั้งหมดนี้คือ ความเปราะบาง ซึ่งประเทศไทยจะต้องเร่งแก้ไข โดยซีอีโอ “ทีเอ็มบี” ทิ้งท้ายให้คิดว่า “หมดเวลาแล้วที่เราจะปล่อยให้เศรษฐกิจเลื่อนไปตามทางเลื่อนอัตโนมัติ หรือหวังว่าแรงโน้มถ่วงของโลกจะพาเราไป

และอย่าตั้งความหวังว่า วัคซีนมา โควิดหาย แล้วเราจะได้กลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิม เราใช้ชีวิตเหมือนเดิมไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะติดในหล่มแบบเดิมอีก และอย่าไปกลัวว่าประเทศไหนจะชนะเรา เพราะทุกคนชนะเราหมดแน่นอน”