กรุงไทย หั่นจีดีพีเหลือ 1.5-3% ชี้ คุมโควิดไม่ได้ใน 3 เดือน ฉุดอุปสงค์วูบ 1.85 แสนล้าน

GDP-เศรษฐกิจไทย

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ปรับกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 64 เหลือโต 1.5-3% จากเดิมอยู่ที่ 2.5% หลังโควิด-19 ระลอก 3 ระบาด คาดกินเวลา 3 เดือน กระทบการท่องเที่ยวในประเทศวูบ เหลือ 81.6 ล้านคน สร้างความเสียหายเม็ดเงิน 1.8 แสนล้านบาท หวั่นควบคุมไม่ได้ใน 3 เดือน ฉุดอุปสงค์ในประเทศถึง 1.85 แสนล้านบาท

วันที่ 22 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินว่า ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในกรอบ 1.5%-3.0% จากเดิมอยู่ที่ 2.5% ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวได้น้อยกว่าที่ประมาณการได้ ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ (1) ความสามารถในการจัดการโรคระบาดกลายพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (2) แจกกระจายวัคซีนได้ตามแผน และ (3) รัฐอัดฉีดเม็ดเงินพยุงเศรษฐกิจอีกกว่า 2 แสนล้านบาท แต่หากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งไม่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ หากเนื่องจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่เดือน เม.ย.2564 อีกครั้งหลังเพิ่งผ่านพ้นวิกฤตระบาดระลอกใหม่ไปเมื่อ ม.ค. ที่ผ่านมา โดยช่วงต้นเดือน เม.ย. สัญญาณการแพร่ระบาดระลอกล่าสุดเริ่มชัดเจนขึ้นจากการแพร่ระบาดในคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ ยิ่งกว่านั้น ภายหลังจากที่ตรวจพบว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่รอบนี้ได้รับเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์ (B.117) ซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่พบครั้งแรกในอังกฤษ สะท้อนจากตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และแพร่กระจายครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์

โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่อาจพุ่งสูงขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประเมินจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันหลังวันหยุดยาวสงกรานต์ไว้ทั้งสิ้น 5 กรณี ซึ่งกรณีที่ 2 ที่ภาครัฐสั่งปิดสถานบันเทิงในจังหวัดเสี่ยงใกล้เคียงกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากที่สุด โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเฉลี่ยอาจสูงถึง 2,996 ราย ซึ่งมากกว่าตัวเลขล่าสุดถึง 2 เท่า (วันที่ 22 เม.ย. อยู่ที่ 1,470 คน)

Advertisment

ทั้งนี้ Krungthai COMPASS ประเมินว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาจกินเวลาอย่างน้อย 3 เดือน โดยคาดว่าจะกระทบแผนการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ และส่งผลต่อเนื่องไปยังแผนการกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วง 3 เดือนข้างหน้าที่ทำได้ยากหรืออาจต้องเลื่อนออกไป นอกจากนี้ ยังกระทบต่อกำลังซื้อโดยรวม โดยเฉพาะจากแรงงานในภาคบริการที่ต้องหยุดหรือลดชั่วโมงการทำงาน

และการระบาดรอบนี้อาจกระทบเศรษฐกิจอย่างต่ำ 3 เดือน ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการควบคุมโรคว่าจะทำได้รวดเร็วเพียงใด โดยเรามองว่า Base case คือการที่ไทยสามารถควบคุมการระบาดได้ดีอาจกระทบเศรษฐกิจเพียง 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.) แต่หากมีการเกิดการระบาดซ้ำซ้อน (Double-dip) ก็อาจจะกระทบเศรษฐกิจยาวนานถึง 6 เดือน (เม.ย.-ก.ย.) เป็น Worse case

โดยคาดจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศอาจเหลือเพียง 81.6 – 98.6 ล้านคน ในกรณี Base case ที่คาดว่า การท่องเที่ยวในประเทศจะหดตัวในช่วง 3 เดือนดังกล่าว โดยเฉพาะเดือน พ.ค. ก่อนที่ Sentiment จะทยอยกลับมาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศทั้งปีลดลงจากประมาณการเดิมที่ 115.2 ล้านคน มาอยู่ที่ 98.6 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 9 หมื่นล้านบาท และหากเกิดกรณี Worse case ก็จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศเหลือเพียง 81.6 ล้านคน สร้างความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 แสนล้านบาท

ขณะที่คาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 0.1 ล้านคนใน Worse case ในกรณีที่มีการระบาดซ้ำซ้อน คาดว่าจะทำให้แผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในวงกว้างที่เคยประเมินว่าจะสามารถทำได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 อาจจะทำไม่ได้

Advertisment

ดังนั้น อุปสงค์ในประเทศอาจหายไปถึง 9.1-18.5 หมื่นล้านบาท นอกเหนือจากผลกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวแล้ว Sentiment การบริโภคและลงทุนในประเทศก็คาดว่าจะยังได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยในกรณี Base case ทาง Krungthai COMPASS ประเมินว่า อุปสงค์ในประเทศจะลดลงราว 9.1 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับประมาณการเดิม

และหากการระบาดไม่สามารถควบคุมได้ภายใน 3 เดือน อุปสงค์ในประเทศก็อาจได้รับผลกระทบถึง 1.85 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นคราวนี้มีแนวโน้มที่จะรุนแรงกว่าการระบาดครั้งที่ 2 ช่วงเดือน ม.ค. 2564 ที่เห็นชัดจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ภาครัฐมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคบริการที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าอยู่แล้วให้ยิ่งฟื้นตัวช้าขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นมาก หนุนการส่งออกของไทยดีขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มการขยายตัวของจีดีพีราว 0.3% เทียบกับประมาณการเดิม โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้าค่อนข้างมาก จากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ รวมถึงการฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรที่ทำได้ค่อนข้างรวดเร็ว ซึ่งการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้ภาพรวมเศรษฐกิจและการค้าโลกมีทิศทางฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งก็จะส่งผลดีต่ออุปสงค์ต่างประเทศและแนวโน้มการส่งออกของไทยในปีนี้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับประมาณการในครั้งก่อนหน้า