ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจอ่อนแอ

ภาพประกอบข่าว เงิน-ดอลลาร์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/5) ที่ระดับ 31.27/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (25/5) ที่ระดับ 31.34/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเทียบเงินสกุลหลักภายหลังจากที่มีการเปิดเผยผลสำรวจของ The Conference Board ในวันอังคาร (25/5) ที่ผ่านมา

โดยตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ อยู่ที่ระดับ 117.20 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 119.00 อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐที่ระดับ 863,000 ยูนิต ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ ณ ระดับ 970,000 ยูนิต

นอกจากนี้นายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ สาขาชิคาโก ได้ออกมากล่าวสนับสนุนนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของเฟด แม้ว่าตลาดยังคงมีความกังวลในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยนายชาร์ลส์ อีแวนส์ เน้นย้ำว่าเฟดมีเครื่องมือทางการเงินที่จะสามารถรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้ และมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังฟื้นตัวในอัตราที่น่าพึงพอใจ ทั้งนี้นักลงทุนยังคงจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของสหรัฐในวันพรุ่งนี้และความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอย่างใกล้ชิด

สำหรับปัจจัยในประเทศ ในวันอังคาร (25/5) ที่ผ่านมา นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน พร้อมด้วยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้ออกมาชี้แจงการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ว่าเป็นวงเงินที่นำมาใช้ดูแลประชาชน และผู้ประกอบการรายย่อย และการสร้างงานให้กับประชาชนในท้องถิ่น เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของการระบาดในอนาคตหรือการระบาดที่อาจจะต้องมีระยะเวลายาวไปอีก

โดยยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีแนวคิดที่จะล็อกดาวน์ทั้งประเทศ แต่เน้นการควบคุมเป็นรายจังหวัด ซึ่งในจังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่สีเขียวก็สามารถประกอบธุรกิจได้เกือบปกติ โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.22-31.34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.26/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (27/5) ที่ระดับ 1.2191/93 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (26/5) ที่ระดับ 1.2242/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าจากการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจในแถบสหภาพยุโรปที่อ่อนแอ โดยสถาบัน GFK ได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของเยอรมนีที่ระดับ -7.0 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ -5.3 อีกทั้งสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขดุลการค้าของฝรั่งเศสที่ระดับ 3.29 พันล้านยูโร ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 4.85 พันล้านยูโร

อย่างไรก็ดี ค่าเงินยูโรยังได้รับปัจจัยหนุนในบางจังหวะจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ขณะที่เจ้าหน้าที่ ECB ระบุว่า ขณะนี้ยังอาจเป็นการเร็วเกินไปที่จะหารือเรื่องการปรับลดการซื้อพันธบัตรฉุกเฉิน โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2173-1.2215 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2195/96 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/5) ที่ระดับ 109.18/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดวันพุธ (26/5) ที่ระดับ 108.88/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศญี่ปุ่นและความล่าช้าในการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ในวันพุธ (26/5) ที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขดัชนีผลผลิตภาคบริการของญี่ปุ่นที่ระดับ 1.0% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 0.9%

นอกจากนี้คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศญี่ปุ่น (JOC) เปิดเผยว่าจะเริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่นักกีฬาโอลิมปิกประมาณ 600 คน ตลอดจนผู้ฝึกสอนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องราว 1,000 คน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนนี้ โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.01-109.20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.16/18 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2564 ของสหรัฐ (27/5), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐ (27/5), ดัชนีตัวเลขการจองบ้านของสหรัฐ (27/5), รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของโตเกียวแห่งญี่ปุ่น (28/5), อัตราการว่างงานของญี่ปุ่น (28/5), รายงานดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของสหรัฐ (28/5) และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเขตชิคาโกแห่งสหรัฐ (28/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.20/0.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 3.00/3.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ