ThaiBMA คาด กนง. “คงดอกเบี้ย” ชี้ออกหุ้นกู้คึก “ไทยเบฟ-CPALL” พุ่งแสนล้าน

“สมาคมตลาดตราสารหนี้” คาดกนง. “คงดอกเบี้ย” ชี้ระดมทุนหุ้นกู้คึกคัก “ไทยเบฟ-CPALL” 2 เจ้า พุ่งแสนล้าน

วันที่ 7 มิถุนายน 2564 “สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” คาด 23 มิ.ย. มติ กนง. “คงดอกเบี้ย” ที่ 0.5% จับตาซัพพลายพันธบัตรจากพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ดันบอนด์ยีลด์ดีดตัว คาดสิ้นไตรมาส 2 บอนด์ยีลด์ 10 ปี อยู่ที่ 1.85% ชี้สัญญาณบวกนักลงทุนต่างชาติรุมซื้อบอนด์ไทยครึ่งปีแรก 3.8 หมื่นล้านบาท หนุนปีนี้โฟลว์ไหลเข้าเป็นบวก เผยยอดระดมทุนหุ้นกู้คึกคัก มิ.ย. “ไทยเบฟ-CPALL” 2 เจ้า พุ่งแสนล้าน คาดสิ้นปียอดออกไม่ต่ำกว่า 7.5 แสนล้านบาท

คาด 23 มิ.ย. ประชุม กนง.คงดอกเบี้ย 0.5%

วันที่ 7 มิถุนายน 2564 นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ผลจากดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยเดือน มิ.ย.2564 สะท้อนการคาดการณ์ของตลาดที่คงมุมมองเช่นเดียวกับครั้งที่แล้วว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ในการประชุมวันที่ 23 มิ.ย.64 นี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจถึงแม้จะเริ่มมีการฉีดวัคซีน แต่สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ยังอยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่ ขณะที่ความกดดันจากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐหลังราคาน้ำมันโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น มองว่าอาจจะมีผลต่อนโยบายดอกเบี้ยไทยได้แต่น้ำหนักเบากว่าสองปัจจัยแรก

จับตาซัพพลายพันธบัตรจากพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน ดันบอนด์ยีลด์ดีดตัว

ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) อายุ 5 ปี และอายุ 10 ปี คาดการณ์สิ้นไตรมาส 2/64 มีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลง จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.07% และ 1.85% (ตามลำดับ) โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) บอนด์ยีลด์อายุ 5 ปี และอายุ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นมา 46 bps และ 57 bps (ตามลำดับ) ทำให้ความชันของเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) เพิ่มขึ้นด้วย โดยส่วนต่าง (Spread) บอนด์ยีลด์ 2 ปีกับบอนด์ยีลด์ 10 ปี สิ้นปี 63 อยู่ที่ 89 bps ซึ่งปัจจุบันปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 132 bps  สะท้อนให้เห็นถึงการคาดการณ์เงินเฟ้อที่น่าจะปรับเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ตลาดให้น้ำหนักคือ ดีมานด์และซัพพลายของพันธบัตรที่จะออกมาจาก พ.ร.ก.เงินกู้ใหม่วงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นซัพพลายที่เพิ่มเข้าในตลาดพันธบัตรและมีผลทำให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้

“ปีนี้ช่วงเดือน มี.ค.64 เห็นการกระชากขึ้นไปของบอนด์ยีลด์ทะลุ 2% ซึ่งครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากผลกระทบโควิด แต่เป็นความกังวลเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเกิดขึ้นในสหรัฐและลามมาประเทศไทย รวมถึงในตลาดเกิดใหม่ (EM) โดยบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีตอนนี้วิ่งอยู่แถวๆ บริเวณ 1.7-1.8% สถานการณ์ดีขึ้น เริ่มเห็นการออกหุ้นกู้ใหม่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา” นางสาวอริยากล่าว 

ชี้นักลงทุนต่างชาติรุมซื้อบอนด์ไทย หนุนปีนี้โฟลว์ไหลเข้าเป็นบวก

นางสาวอริยา กล่าวต่อว่า สำหรับเงินทุนต่างชาติ (Fund Flow) ในตลาดบอนด์ไทย ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิอยู่ที่ 30,678 ล้านบาท เป็นการซื้อบอนด์อายุมากกว่า 1 ปี กว่า 49,831 ล้านบาท และขายทำกำไรบอนด์ระยะสั้น 19,167 ล้านบาท และหมดอายุไปราว 7,999 ล้านบาท ซึ่งถือว่ายังเป็นสัญญาณที่ดี เพราะอายุตราสารหนี้ที่นักลงทุนต่างชาติถือครอง มีมูลค่าสูงถึง 875,774 ล้านบาท อายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 9.57 ปี

ตลาดบอนด์เราเห็นฟันด์โฟลว์ไหลออกมาติดต่อกัน 2 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2562 ไหลออกกว่า 8.4 หมื่นล้านบาท และปี 2563 ไหลออกกว่า 6.4 หมื่นล้านบาท โดยครึ่งปีแรกจากโควิดระบาดฟันด์โฟลว์ไหลออกกว่าแสนล้านบาท แต่ฟื้นตัวได้จากการรับมือโควิดได้ดีขึ้น ส่วนปีนี้แม้ว่าจะมีคลัสเตอร์โควิดใหม่ แต่การบริหารจัดการยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เพราะมีวัคซีนเข้ามาแล้ว เชื่อว่าน่าจะเห็นฟันด์โฟลว์ที่ไหลเข้าเป็นบวกในปีนี้ จากปัจจุบันเหลือครึ่งปีไหลเข้ามาแล้วประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท น่าจะไหลเข้าได้ต่อเนื่อง แต่มูลค่าไม่ได้สูงมาก” นางสาวอริยากล่าว

มั่นใจระดมทุนออกหุ้นกู้ปีนี้ 7.5 แสนล้าน “ไทยเบฟ-CPALL” 2 เจ้า พุ่งแสนล้าน

นางสาวอริยา กล่าวต่อว่า ขณะที่ตลาดแรกในการออกหุ้นกู้ เห็นสัญญาณเชิงบวกในช่วง 5 เดือนแรกพบว่า มีมูลค่าการออกหุ้นกู้ระยะยาว 380,779 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (หรือมากกว่า 138,166 ล้านบาท) และยังมีแนวโน้มออกเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังด้วย โดยมีหุ้นกู้ครบดีลในช่วงที่เหลืออีก 4 แสนล้านบาท ดังนั้นเชื่อว่าในปีนี้การออกหุ้นกู้ใหม่ทั้งหมดจะไม่ต่ำกว่า 750,000 ล้านบาท โดยในเดือน มิ.ย.64 มีดีลใหญ่ 2 รายคือ ไทยเบฟเวอเรจ มูลค่าออกหุ้นกู้ราว 3.8 หมื่นล้านบาท และซีพี ออลล์ มูลค่าออกหุ้นกู้ราว 6.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมกันเกือบแสนล้านบาทไปแล้ว ดังนั้นเชื่อว่าบรรยากาศน่าจะเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง