ธปท. คาดเศรษฐกิจไทยใช้เวลานาน 6 ปี ฟื้นไข้โควิด

เศรษฐกิจไทย

ธปท. เผยภาคการเงินไทยมีความเข้มแข็งรองรับโควิดได้ ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยคาดต้องใช้เวลาถึง 6 ปี ฟื้นไข้โควิด ชี้ระยะสั้นเงินเฟ้อค่อนข้างสูง-ยังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 

วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนา Thailand Economic Monitor “เส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยธนาคารโลก ในหัวข้อเสวนา “เราจะสนับสนุนการฟื้นตัวที่ยั่งยืนได้อย่างไร” ว่า เศรษฐกิจไทยช่วงนี้เรียกได้ว่า “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด” คาดว่าจะพ้นโควิดแล้ว แต่ก็มีการระบาดระลอกใหม่ รวมทั้งปัญหาการจัดหาวัคซีนด้วย อย่างไรก็ดี ในความโชคร้ายยังมีความโชคดีอยู่ ด้านภาคการเงินยังมีความเข้มแข็ง ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการประชุมย่อยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน มีการรายงานสถานภาพของธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวม และบริษัทประกัน โดยพิจารณาจากในหลักการว่าเศรษฐกิจปีนี้ติดลบ และยาวไปถึงปี 2565 ซึ่งแม้จะเป็นเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ยาก แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ดี แม้จะมีการพิจารณาในส่วนของประเด็นดังกล่าวแล้ว ธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทประกัน ยังมีความสามารถในการดำเนินงาน และเงินในกองทุนยังมีเพียงพอรองรับสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งเรียกได้ว่าภาคการเงินเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจในช่วงนี้

ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยนั้น มองว่าในระยะสั้น 1-2 ปีนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เป็นการฟื้นตัวรูปตัว K ซึ่งจะมีบางกลุ่มที่สามารถฟื้นตัวได้เร็ว และมีบางกลุ่มอาจจะฟื้นตัวได้ช้า ซึ่งภาครัฐเองก็พยายามประครองให้ตัว K ฐานรากฟื้นตัวได้ดีขึ้น หรือในระยะสั้น 1-2 ปีนี้ อย่างไรก็ดี ระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศไทย ธปท. คาดการณ์ล่าสุด ปีนี้จะขยายตัว 1.8% และในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว 3.9% จากนั้นระยะถัดไปมองว่าโต 5% ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่คาดการณ์ก่อนไม่มีโควิด

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาว่าถ้าไม่มีการเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดเลย คาดว่าเศรษฐกิจไทย จะเติบโตไปปีละ 3% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขพอไปได้ แต่สิ่งที่อยากชี้ให้เห็นคือต่อให้เศรษฐกิจไทยหลังจากปี 2566 แล้วจะฟื้นตัวได้ปีละ 5% ตามยุทธศาสตร์ชาติ แต่ไทยยังไม่ได้กลับไปเทรนด์เดิม ที่ขยายตัว 3% เท่าปี2560 ฉะนั้น พิษจากโควิดส่งผลระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทยมาก ซึ่งกว่าที่จะสามารถกลับไปเทรนด์เดิมได้ก็น่าจะปี 2570 หรือใช้ระยะเวลา 6 ปี

“ช่วงนี้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวช้า ก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินการคลังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยนโยบายการเงินเรื่องของอัตราดอกเบี้ยคงอยู่ในระดับต่ำอีกนานพอสมควร ในขณะที่หลายประเทศเริ่มปรับไปแล้ว ส่วนนโยบายการคลัง ในระยะถัดไปจะเยียวยา เพื่อเป็นส่วนช่วยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโตถึง 5% ก็ไม่ใช่สิ่งที่ง่าย เราก็มีปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่สังคมสูงวัยในอนาคต หรือบริษัทหลายแห่งถูกกระทบจากโควิดการฟื้นตัวก็จะไม่ได้ง่าย”

ส่วนระยะยาวภาพรวมเศรษฐกิจไทย เชิงโครงสร้างนั้น ที่เห็นชัดเจนคือภาพการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งคิดเป็น 20% ของจีดีพีเศรษฐกิจในประเทศ โดยหากมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจท่องเที่ยวจะไม่ได้ขยายตัวเติบโตกว่านี้แล้ว แม้โควิดจะหมดไป ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะมีโรคเกิดขึ้นได้อีก ฉะนั้น การท่องเที่ยวในอนาคตจะหวังให้เติบโตก็จะยากขึ้น ซึ่งจะต้องมีการ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่ชัดเจน ซึ่งอนาคตรายได้จากกลุ่มนี้อาจจะเล็กลง และภาคอุตสาหกรรมในอนาคตจะเป็นรูปแบบดิจิทัล เป็นต้น 

ขณะที่แนวโน้มในระยะสั้นของภาคการเงินนั้น ธปท. มองว่าช่วงนี้จะเห็นเงินเฟ้อค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ต่ำในปี 2563 ซึ่งในระยะต่อไปคาดว่าจะเห็นเงินเฟ้อชะลอลงมา และทั้งปียังอยู่ในกรอบของธปท. ทีดูแล ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น เริ่มมีกระแสข่าวในต่างประเทศมีแนวโน้มจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไป แต่ส่วนของประเทศไทยน่าจะต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพัก เนื่องจากหากเทียบกับเศรษฐกิจไทย ไทยมีการฟื้นตัวล่าช้ากว่าต่างประเทศเยอะมาก ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังไม่ได้กลับไปเท่าระดับของปี 2563 ขณะที่ต่างประเทศการฟื้นตัวกลับไปถึงปีที่แล้ว และบางประเทศสูงกว่าแล้ว จึงจะขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วกว่า

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ในช่วงที่ผ่านมาก่อนหน้านี้จะมีแนวโน้มจากค่าเงินที่สูงขึ้น เนื่องจากมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันปีนี้สถานการณ์กลับกัน เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด ฉะนั้น บัญชีเดินสะพัดในปีนี้ มองว่าจะติดลบ หรือใกล้เคียงระดับ 0% ดังนั้น แรงกดดันของเงินบาทในการสูงค่าจะไม่ค่อยมี ซึ่งแนวโน้มจะเป็นในทิศทางที่อ่อนค่า ถือว่าเป็นข้อดีอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจไทยด้วย เพราะหากเงินบาทแข็งค่าเหมือนปีที่แล้ว เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจจะรองรับไม่ไหว