2 บลจ. “กสิกร-TMBAM” ชี้วิกฤตหุ้นเทคจีนมีโอกาสซ่อนอยู่

หุ้นไทย-set

“บลจ.กสิกรไทย” มองบวกตลาดหุ้นจีนปรับลงชั่วคราว หลังรัฐบาลจีนมีมาตรการเข้มงวดธุรกิจกลุ่มเทคโนโลยีผูกขาด-โรงเรียนกวดวิชา เชื่อมั่นจะฟื้นตัวกลับมาโตดีในระยะยาว ระบุกองทุนหุ้นจีนภายใต้การบริหารจัดการไม่ผลกระทบ แนะนักลงทุนถือต่อ มองเป็นจังหวะเข้าซื้อเพื่อถือยาว ฟาก “TMBAM Eastspring” ชูหุ้นเทคจีนขนาดเล็กเชื่อโตสวนตลาด

วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 นายนาวิน อินทรสมบัติ Chief Investment Officer รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า จากมาตรการของรัฐบาลจีนที่เข้มงวดในการกำกับดูแลภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่มีการผูกขาดเพื่อสร้างความเป็นธรรมในตลาด

ซึ่งที่ผ่านมาได้ควบคุมกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทำให้ตลาดหุ้นจีนผันผวนไปช่วงเวลาหนึ่ง และล่าสุดได้เข้ามาควบคุมกลุ่มโรงเรียนกวดวิชา (After-school Tutoring – AST) โดยเปลี่ยนให้เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีน A-shares และ H-shares ปรับตัวลงแรง

อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของจีน (CSRC) ได้ออกมาชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจและเรียกความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนกลับมา ทำให้ตลาดหุ้น A-shares และ H-shares ปรับขึ้น 1.5% และ 3.8% ตามลำดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 29 ก.ค. 64)

นายนาวิน อินทรสมบัติ

ทั้งนี้ สำหรับกองทุนหุ้นจีนภายใต้การบริหารจัดการของบลจ.กสิกรไทย ทุกกองทุนไม่มีการลงทุนในหุ้นกลุ่มโรงเรียนกวดวิชาทั้ง TAL Education และ New Oriental Education แต่จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อกองทุนหุ้นจีน โดยเฉพาะกองทุน K-CHINA, K-CHINA-SSF และ KCHINARMF จากการปรับตัวลงของตลาด อันเนื่องมาจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็น Alibaba, Tencent และ Meituan ได้รับผลกระทบจากบรรยากาศ (Sentiment) ของตลาดทั้งในรอบที่ผ่านมาและรอบล่าสุด

อย่างไรก็ดี ผู้จัดการกองทุนหลัก K-CHINA, K-CHINA-SSF และ KCHINARMF ยังคงเชื่อมั่นในปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งได้รับประโยชน์จากการเข้าสู่ยุคดิจิทัล และสอดรับกับรูปแบบการใช้ชีวิต (Lifestyle) ของคนรุ่นใหม่ในจีนที่เปลี่ยนไป

“บลจ.กสิกรไทย ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นจีนจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจและการบริโภค ที่จะสร้างโอกาสในการเติบโตให้กับหลายกลุ่มอุตสาหกรรมในระยะยาว อาทิ กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ตามยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศให้ได้ถึง 70% ภายในปี 2568 กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2603

และกลุ่มสุขภาพ ที่รัฐบาลจีนต้องการให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพสูง ในราคาที่เหมาะสม รวมถึงสนับสนุนการลงทุนและวิจัยเพื่อพัฒนายาและนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนยังต้องติดตามการดำเนินนโยบายที่เข้มงวดของภาครัฐต่อการควบคุมการผูกขาดในธุรกิจอื่นๆ รวมถึงการระบาดหรือกลายพันธุ์ของโควิด-19 ที่อาจทำให้เกิดการล็อกดาวน์บางส่วนได้” นายนาวินกล่าว

นายนาวิน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ลงทุนที่มีกองทุนหุ้นจีนอยู่ในพอร์ตและยังต้องการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในกองทุนหุ้นจีน แนะนำให้เข้าลงทุนเพิ่มได้ แต่หากพอร์ตมีสัดส่วนการลงทุนในกองทุนหุ้นจีนที่มากพออยู่แล้ว แนะนำให้ถือต่อไปเพื่อรอโอกาสตลาดปรับขึ้น นอกจากนี้ สำหรับผู้ลงทุนที่ยังไม่เคยมีกองทุนหุ้นจีนอยู่ในพอร์ต จังหวะนี้ถือเป็นโอกาสทยอยเข้าลงทุนเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยงและคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน /ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้ยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต / กองทุน K-CHINA มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่า 75% ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ / กองทุน K-CHINA-SSF และ KCHINARMF มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน ทั้งนี้ กองทุนมิได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนจึงอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้

นายบดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทหารไทย จำกัด (TMBAM Eastspring) ให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์หุ้นเทคโนโลยีจีนในปัจจุบันว่า ผลกระทบจากการควบคุมจากรัฐบาลจีนล่าสุดโดยเฉพาะด้านกฎระเบียบการผูกขาดตลาด ทำให้ตลาดหุ้นจีนมีการปรับฐานลงหนักในช่วงนี้

โดยพบว่าดัชนีที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือ Hang Seng Tech ซึ่งเป็นดัชนีที่รวมหุ้นเทคโนโลยียักษ์ใหญ่กว่า 30 บริษัท ในตลาดหุ้นฮ่องกง เช่น Tencent, Alibaba, JD.com และนอกจากนั้นยังพบว่าหลายบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ใน Hang Seng Tech ถูกนับรวมอยู่ในดัชนี H-Shares และ MSCI China ส่งผลให้ 3 ดัชนีนี้ปรับตัวลงแรงเช่นกัน

ทำให้ทั้ง 3 ตลาดหุ้นข้างต้น ล้วนได้รับผลกระทบจากการกำกับดูแลของรัฐบาลจีนที่ออกกฎระเบียบควบคุมในด้านต่างๆ รวมถึงประเด็นสงครามทางเทคโนโลยี (Tech War) กับทางสหรัฐฯที่พยายามสกัดกั้นเทคโนโลยีจากทางจีนและยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง สิ่งที่น่าสนใจจากผลกระทบเหล่านี้คือ การสร้างโอกาสการลงทุนจากหุ้นจีน โดยเฉพาะในตลาดหุ้นนวัตกรรมเทคโนโลยีจีนที่เป็นหุ้นขนาดเล็ก-กลาง นั้นแต่มีโอกาสเติบโตสูง ซึ่งก็คือ STAR Market หรือ ดัชนี SSE STAR 50

สำหรับดัชนี SSE STAR 50  นั้น เป็นดัชนีที่เน้นเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยดัชนีนี้จะเป็นการรวมบริษัทเทคโนโลยีของจีนคล้ายกับตลาดหุ้น NASDAQ ของสหรัฐฯ พบว่าในช่วงที่ผ่านมาดัชนีนี้สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางดัชนีหลัก และดัชนี SSE STAR 50  กำลังใกล้จะทำสถิติจุดสูงสุดใหม่นับตั้งแต่มีการซื้อขายในช่วงเดือน กรกฎาคม 2563

เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก จึงทำให้ได้รับผลกระทบจากเรื่องกฎระเบียบด้านการผูกขาดน้อย และในทางตรงกันข้าม เราจะพบว่าบริษัทเหล่านี้ยังได้รับการสนับสนุนและการส่งเสริมจากทางภาครัฐจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 ที่เน้นเรื่องการวิจัยและพัฒนาอีกด้วย

นายบดินทร์ พุทธอินทร์

นอกจากนั้น โดยมากบริษัทเหล่านี้มีรายได้หลักอยู่ในประเทศจีน ทำให้ประเด็นสงครามเทคโนโลยีที่ถูกกดดันจากทางสหรัฐฯไม่ได้มีผลต่อบริษัทในดัชนีเหล่านี้มากนัก จึงส่งผลให้ดัชนีนี้ปรับตัวต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดี

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา TMBAM Eastspring ได้ออกกองทุน TMB EASTSPRING STAR50 Chinese Technology หรือ TMB-ES-STARTECH โดยกองทุนเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน KraneShares SSE STAR Market 50 Index ETF ซึ่งเป็นกองทุนหลักเพียงกองทุนเดียว โดยกองทุนหลักจะลงทุนใน Shanghai Stock Exchange (SSE) Science and Technology Innovation Board 50 Index หรือ STAR50 นั่นเอง

โดยตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 ดัชนี SSE STAR 50  สามารถสร้างผลตอบแทนไปแล้วถึง 9.31% ซึ่งสวนทางการกับกองทุนหุ้นเทคโนโลยีจีนกองทุนอื่นๆที่ปรับลดลงในช่วงนี้

โดยทีมกลยุทธ์การลงทุนเชื่อว่ากองทุนนี้จะยังได้รับแรงหนุนต่อ ทั้งจากแรงหนุนจากรัฐบาล และการหลุดรอดพ้นจากการกำกับดูแลหุ้นเทคขนาดใหญ่จากรัฐบาลจีนนั่นเองแต่ด้วยลักษณะความเป็นบริษัทกลาง-เล็กและเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยี ทีมกลยุทธ์การลงทุนจึงแนะนำสัดส่วนไม่เกิน 10% ของพอร์ตการลงทุน (แหล่งข้อมูล Bloomberg, 28 กรกฎาคม 2564)

สำหรับผู้ที่ลงทุนในกองทุนหุ้นจีนกองทุนอื่นๆ นับตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อาจมีความรู้สึกสั่นคลอนพอสมควร เพราะตลาดหุ้นจีนเริ่มเผชิญกับความผันผวนจากปัจจัยที่เข้ามากระทบในหลายด้าน ทั้งเรื่องของนโยบายการเงินที่ทางธนาคารกลางจีนเริ่มลดสภาพคล่องในการอัดฉีดเข้าสู่ระบบ และปัจจัยสงครามเทคโนโลยีที่ทางสหรัฐฯมีการเพิ่มรายชื่อการแบนบริษัทเทคโนโลยีจากจีน แต่ปัจจุบันสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญ คือ การควบคุมจากทางรัฐบาลจีนนั่นเอง

“ปัจจัยร้อนแรงและกระทบการลงทุนในตลาดหุ้นจีนมากที่สุดในตอนนี้ คือการควบคุมและการออกกฎระเบียบจากรัฐบาลจีน ซึ่งในปีนี้หลายบริษัทได้รับผลกระทบจากการออกกฎระเบียบจากรัฐบาลจีน ทั้งด้านการผูกขาดทางการค้า ด้านกฎเกณฑ์การทำธุรกิจ และด้านการควบคุมการนำข้อมูลผู้บริโภคไปใช้”

การควบคุมจากทางรัฐบาลจีน เริ่มตั้งแต่ Ant Group บริษัทในเครือ Alibaba ถูกยับยั้งจากรัฐบาลจีนเพียงไม่กี่วันก่อนที่จะมีการเปิดการซื้อขายวันแรก (IPO) เพื่อให้ทาง Ant Group กลับไปปรับปรุงโครงสร้างการทำงานต่างๆให้ทำตามกฎระเบียบด้านธุรกิจสถาบันการเงินเหมือนสถาบันการเงินอื่น

หลังจากนั้น ไม่นานมานี้ Didi Chuxing ผู้ให้บริการเรียกรถโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในจีน ถูกรัฐบาลจีนสั่งให้ถอดแอพลิเคชั่นออกจากแพลตฟอร์มการดาวน์โหลดทั้ง App Store และ Google Play โดยรัฐให้ความเห็นว่าแอพลิเคชั่นมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้ ซึ่งล่าสุดทางรับบาลจีนอาจถึงขั้นให้ Didi Chuxing เพิกถอนการจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ อีกด้วย

นอกจากนั้น Tencent บริษัทเทคยักษ์ใหญ่จากจีน ก็มีประเด็นที่ถูกรัฐบาลจีน ปรับเงิน และยกเลิกการผูกขาดในลิขสิทธิ์เพลง เนื่องจากมองว่าเป็นการผูกขาดทางการตลาดอย่างหนึ่ง

และสำหรับประเด็นร้อนแรงล่าสุดคือ กลุ่มติวเตอร์ออนไลน์ที่ถูกรัฐบาลจีน เริ่มเข้ามาควบคุมและออกกฎต่างๆ อย่างเข้มงวดมากขึ้น ตั้งแต่จำกัดชั่วโมงการเรียน และล่าสุดถูกจัดให้เป็นองค์ไม่แสวงหากำไร ส่งผลให้หุ้นกลุ่มดังกล่าวปรับตัวลงไปประมาณ 90% จากจุดสูงสุด ซึ่งประเด็นนี้เองกำลังสร้างความกังวลให้นักลงทุนว่ามามีการขยายการควบคุมไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นด้วยหรือไม่

ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ลงทุนกองทุนหุ้นจีน ของ TMBAM Eastspring และ Thanachart Fund Estspring ทั้ง TMB-ES-CHINA-A และ T-ES-CHINA-A ปัจจุบันไม่ได้มีการลงทุนในกลุ่มติวเตอร์ออนไลน์ เนื่องกองทุนนี้เน้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มการแพทย์ และกลุ่มการเงิน ขณะที่กลุ่มเทคโนโลยีนั้นมีไม่ถึง 5% แต่อาจยังมีความเสี่ยงเรื่องของกฎหมายป้องกันการผูกขาดซึ่งต้องติดตามต่อไป ซึ่งสำหรับนักลงทุนในระยะสั้นอาจต้องรอความชัดเจนจากนโยบายของรัฐบาลจีน แต่ในระยะยาวยังคงมองว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศจีนยังคงเติบโตได้ดีและน่าสนใจในระยะยาว

ในส่วนของกองทุน TMBCOF ที่ลงทุนในกองทุนหลัก UBS (Lux) Equity Fund – China Opportunity  มีสัดส่วนของการลงทุน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ในกลุ่มติวเตอร์ออนไลน์อย่าง TAL เพียงแค่ 1.6% เท่านั้น ซึ่งสำหรับนักลงทุนในระยะสั้นอาจต้องติดตามว่ากลุ่มอุตสาหกรรมอื่นจะถูกทางการจีนกำกับเพิ่มเติมหรือไม่ แต่สำหรับนักลงทุนระยะกลางถึงยาวอาจใช้โอกาสในการปรับฐาน ในการเข้าทยอยลงทุน เนื่องจากรายได้และกำไรยังคงมีการเติบโตในระดับที่น่าสนใจ

สำหรับผู้สนใจลงทุน หรือต้องการฟังสัมมนาย้อนหลัง สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tmbameastspring.com หรือติดต่อลูกค้าสัมพันธ์ TMBAM Eastspring โทร 1725 ในเวลาทำการ หรือผ่านช่องทางการขายของบริษัทฯ หรือตัวแทนการสนับสนุนการขายและรับซื้อคืนที่ได้รับแต่งตั้ง