ค่าเงินดอลลาร์ทรงตัวในแนวแข็งค่า ตลาดจับตาเงินเฟ้อสหรัฐคืนนี้

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์ทรงตัวในแนวแข็งค่า ตลาดจับตาเงินเฟ้อของสหรัฐคืนนี้ ขณะที่ตลาดยังติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในไทยและทั่วโลกอย่างใกล้ชิด ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 33.36/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำ วันพุธที่ 11 สิงหาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/8) ที่ระดับ 33.44/45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (10/8) ที่ระดับ 33.45/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังคงแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักจากการที่ นักลงทุนในตลาดยังคาดการณ์ว่ารายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเฉพาะข้อมูลแรงงานที่แข็งแกร่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและลดวงเงินในโครงการซื้อคืนพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เร็วขึ้นกว่าที่เฟดเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้

นอกจากนี้เมื่อคืนที่ผ่านมา วุฒิสภาสหรัฐ ได้ลงมติเห็นชอบต่อร่างกฎหมายการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ สหรัฐ ซึ่งจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐได้มากขึ้นและเป็นการสร้างงานอีกจำนวนมาก โดยวุฒิสภาจะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐในขั้นตอนต่อไป

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ได้เปิดเผยเมื่อคืนวานนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐได้รายงานตัวเลขประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ (Nonfarm Productivity) เพิ่มขึ้น 2.3% ในไตรมาส 2 ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.5% อย่างไรก็ตาม ตลาดจับตาตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) ของสหรัฐ ในคืนนี้อย่างใกล้ชิด

ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทหลังจากเปิดตลาดในช่วงเช้า ค่าเงินบาทเริ่มปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมีแรงขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจากผู้ส่งออกมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากขึ้นไปยืนเหนือระดับ 33.45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และไม่สามารถผ่านแนวต้านไปได้

ทั้งนี้ตลาดยังคงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไทยและทั่วโลกอย่างใกล้ชิด โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.34-33.46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.36/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (11/8) ที่ระดับ 1.1715/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยโูร ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (10/8) ที่ระดับ 1.1724/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยโูร ค่าเงินยูโรทรงตัวในแนวอ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับแรงกดดันจากการที่ตลาดมองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยูโรโซนยังชะลอตัวเมื่อเทียบกับสหรัฐ

โดยข้อมูลจากสถาบัน ZEW ระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีลดลงมาที่ระดับ 40.4 ในเดือนสิงหาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 56.7 และลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับระดับ 63.3 ในเดือนก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) ของเยอรมนีเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบรายเดือน เท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่ม 0.4% ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1708 – 1.1727 ดอลลาร์สหรัฐ/ยโูร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1710/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยโูร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/8) ที่ระดับ 110.67/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (10/8) ที่ระดับ 110.50/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (Bond Yield) ที่พุ่งขึ้นมาแตะระดับ 1.37% จากการคาดการณ์ของตลาดที่ว่า เฟดอาจเริ่มพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและลดวงเงินในโครงการซื้อคืนพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยหนุนค่าเงินเยนได้ในฐานะสินทรัพย์ป์ลอดภัย (Safe Haven)

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.55-110.80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.78/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐเดือนกรกฎาคม (11/8), ยอดคำสั่งซื้อเครื่องจักรของญี่ปุ่น เดือนมิถุนายน (12/8), ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เดือนมิถุนายน (12/8), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ สหราชอาณาจักร ไตรมาส 2 (12/8), ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหราชอาณาจักร เดือนมิถุนายน (12/8),

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน เดือนมิถุนายน (12/8), ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐ เดือนกรกฎาคม (12/8), รายงานยอดผู้รับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ครั้งแรกของสหรัฐ (12/8), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ จากมหาวิทยาลยัมิชิแกน เดือนสิงหาคม (13/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.8/+0.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +3.2/+3.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ