ร่วมด้วยช่วยกัน ผ่าน Supply Chain

ธุรกิจ
ภาพประกอบข่าว : Pixabay
คอลัมน์ Smart SMEs
ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ SMEs มีความต้องการสินเชื่อเพื่อนำไปเป็นเงินทุนเพิ่มเติมในการหมุนเวียนธุรกิจอย่างเร่งด่วน ซึ่งนอกเหนือจากมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ แล้ว

ยังมีสินเชื่อรูปแบบหนึ่งที่ผู้ประกอบการหลาย ๆ ท่านอาจจะยังไม่รู้จักนั่นก็คือ สินเชื่อหมุนเวียนเพื่อคู่ค้า หรือ supply chain financing ที่เป็นสินเชื่อที่ธนาคารปล่อยให้กับ SMEs supplier โดยไม่ได้ต้องการหลักประกันใด ๆ แต่จะดูที่คู่ค้าแล้วก็ประวัติการซื้อขายของเขากับคู่ค้าที่เป็น big buyer เป็นหลักเท่านั้น

ทั้งนี้สินเชื่อในรูปแบบนี้จะช่วยให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องใช้หลักประกันใด ๆ วงเงินสินเชื่อก็จะมีเพียงพอ ดอกเบี้ยก็ต่ำ

และยังสะดวกในการใช้เพราะว่าสามารถทำธุรกรรมเป็นออนไลน์ได้ รวมทั้ง big buyerซึ่งเป็นคู่ค้า SMEs supplier ก็จะได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน เพราะว่า SMEs มีวงเงินใช้เพียงพอก็สามารถส่งมอบสินค้าให้ได้ทันตามเวลาที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม รูปแบบสินเชื่อ supply chain financing นี้ต้องได้รับความร่วมมือกับ big buyer รายใหญ่ ๆ มีการซื้อขายกับ SMEs supplier ในวงกว้างแล้วก็จำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมค้าปลีก อาหารและเครื่องดื่ม ยานยนต์ การดูแลสุขภาพ วัสดุก่อสร้าง ซึ่งก็จะเป็นการช่วยผลักดันให้เกิดการสนับสนุนช่วยเหลือกันในวงกว้างให้เกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ เมื่อมองดูในภาพรวมของประเทศ ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่ที่มียอดขายมากกว่า 1 พันล้าน เป็นต้นไป มีมูลค่าค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและซื้อบริการรวมกันเกือบ 24 ล้านล้านบาท GDP ของ SMEs มีมูลค่าเพียงแค่ 1 ใน 4 หรือแค่ 25% ของค่าใช้จ่ายเหล่านี้

และหากลองคิดดูว่าบริษัทเหล่านี้มาร่วมด้วยช่วยกัน ร่วมกันพัฒนา SMEs จะทำให้ SMEs สามารถเติบโตได้อย่างมากมายซึ่งแนวทางร่วมด้วยช่วยกันนั้นยังสามารถทำโดยผ่าน 2 รูปแบบเพิ่มเติม ดังนี้

รูปแบบแรกก็คือ partnership model เป็นโมเดลที่บริษัทขนาดใหญ่จะร่วมช่วยในการพัฒนาทักษะและความรู้ให้กับ SMEs ซึ่งเป็นคู่ค้า การพัฒนานี้อาจจะผ่านร่วมกันกับสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมฯ หรือแม้กระทั่งสมาคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยกันพัฒนาหลักสูตรหรือรูปแบบของการประชุมสัมมนา รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับ SMEs ที่เป็นคู่ค้า

และสำหรับรูปแบบที่ 2 ก็คือ incentive model โดยภาครัฐอาจจะต้องเข้ามาช่วยดูแล incentive ให้กับบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น การที่จะสามารถเอาค่าใช้จ่ายในการพัฒนาดูแล SMEs สามารถจะหักเป็นภาษีได้ incentive ตามความเหมาะสม ซึ่งในอนาคตแล้วจากการที่ SMEs มียอดขายมีกำไรที่เติบโตย่อมทำให้สามารถที่จะเสียภาษีเข้าภาครัฐได้เพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งก็จะเป็นส่วนที่ชดเชยกันกับ incentive ได้เช่นเดียวกัน

เมื่อสิ่งต่าง ๆ นี้ประสบความสำเร็จจากการที่ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นผ่าน supply chain financing บวกกับ partnership model และ incentive model ซึ่งจะเห็นได้ว่าประโยชน์จะเกิดได้ใน 3 ด้านเลยทีเดียว

นั่นคือ SMEs สามารถเติบโตพร้อมองค์ความรู้และทักษะก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและตลาด บริษัทขนาดใหญ่เองก็เติบโตไปด้วยความมั่นใจได้ว่าคู่ค้ามีความแข็งแกร่งเพียงพอเติบโตไปด้วยกัน

ที่สำคัญที่สุดนั่นก็คือ เศรษฐกิจของประเทศไทยก็จะพัฒนาได้อย่างกระจายตัวและอย่างยั่งยืนในที่สุด