วิจัยกรุงศรี เปิด 4 ขั้นตอนคลายล็อกประเทศให้พ้นภัยเศรษฐกิจ-โควิด

ห้างสรรพสินค้า

วิจัยกรุงศรี เผยไทยถอนมาตรการล็อกดาวน์หลังยอดติดเชื้อ-เสียชีวิตลดลง แนะควรสร้างสมดุลการระบาด-ผลต่อเศรษฐกิจ หลังคุมเข้มปี 63 จีดีพีหดตัว -6.1% พร้อมเปิดผลศึกษา 4 ขั้นตอนคลายความเข้มงวดของมาตรการ หวังช่วยพยุงเศรษฐกิจเสียหายเกินจำเป็น

วันที่ 2 ตุลาคม 2564 วิจัยกรุงศรี ประเมินความเข้มงวดของมาตรการควบคุมการระบาดที่ใช้ในแต่ละมาตรการมีความสามารถในการควบคุมการระบาดและมีผลต่อเศรษฐกิจแตกต่างกันอย่างไร ดังจะเห็นได้จากการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ที่หดตัวสูงถึง 6.1% แม้ว่ามาตรการที่ใช้มีความสำเร็จแต่ต้องแลกมาด้วยความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล จึงนำไปสู่คำถามที่สำคัญว่าประเทศไทยจะสามารถถอนมาตรการเหล่านี้อย่างไร เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไม่ให้เสียหายมากเกินจำเป็น ทั้งยังลดความเสี่ยงของการระบาดของโควิด-19 ในวงกว้างระลอกใหม่

ทั้งนี้ หากดูจำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตที่เริ่มปรับลดลง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันลดลงจากระดับสูงสุดที่ 23,418 รายเมื่อกลางเดือนสิงหาคมมาอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 1.3 หมื่นรายในเดือนกันยายน ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงต่ำกว่า 200 รายต่อวัน โดยการลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตส่วนหนึ่งมาจากมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด

แนะถอนมาตรคุมระบาดต่ำ-มีผลต่อเศรษฐกิจสูง

และเพื่อหาขั้นตอนการถอนมาตรการควบคุมการระบาดที่เหมาะสม วิจัยกรุงศรีได้ประเมินผลของการถอนมาตรการรูปแบบต่าง ๆ ต่อเศรษฐกิจและการระบาด โดยมีข้อสมมติฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับวัคซีน ดังนี้ วัคซีนที่ฉีดสามารถกันการติดเชื้อได้ประมาณ 50-60% และสามารถกันการเสียชีวิตได้ 80-85% โดยมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ 4.6 แสนโดสต่อวัน ซึ่งทำให้มีประชากรไทย 37.3 ล้านคนได้วัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม และประชากรอีก 15.7 ล้านคนได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก ณ สิ้นปี 2564 และหากผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้น มาตรการที่ใช้จะต้องมีความเข้มงวดมากขึ้นเพื่อควบคุมการระบาด ดังนั้น การศึกษาจะกำหนดให้อัตราการแพร่เชื้อที่เกิดขึ้นจริงหรือ Effective reproductive rate ตลอดทุกช่วงเวลาที่ทำการศึกษาจะมีค่าน้อยกว่า 1 (จำนวนผู้ที่ยังป่วยจะไม่เพิ่มขึ้น)

โดยวิจัยกรุงศรี คำนวณหาความเข้มงวดของมาตรการที่เกิดขึ้นจริง (Implied Stringency) เพื่อวิเคราะห์ว่าแต่ละมาตรการมีความสามารถในการควบคุมการระบาดจริงและมีผลต่อเศรษฐกิจแตกต่างกันอย่างไร ผลการศึกษาบ่งชี้ว่า มาตรการใช้หน้ากากอนามัย การนำเสนอข่าวต่อสาธารณชน และมาตรการห้ามการรวมกลุ่มเป็นมาตรการที่ช่วยลดการระบาดได้ดีที่สุด ในขณะเดียวกัน มาตรการปิดสถานที่ทำงาน มาตรการควบคุมการเดินทางข้ามประเทศ และการบังคับให้อยู่บ้านเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากที่สุด

ดังนั้น ในระยะต่อไปที่แนวโน้มการติดเชื้อดีขึ้น มาตรการที่ช่วยควบคุมการระบาดน้อยแต่ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสูงควรเป็นมาตรการที่ควรถูกยกเลิกได้ในลำดับแรก ได้แก่ มาตรการบังคับให้อยู่บ้าน การปิดสถานที่ทำงาน และการปิดขนส่งสาธารณะ ผลการศึกษายังบ่งชี้ว่า การคลายล็อกดาวน์ควรแบ่งออกเป็น 4 ช่วงนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 และควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนแรก การปรับตัวเพื่อที่จะอยู่กับโลกที่มีโควิด-19 และย่นระยะเวลาเปลี่ยนผ่านจาก Pandemic เป็น Endemic จะช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งยังช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวม ภาคธุรกิจ และผู้ประกอบการเติบโตต่อไปได้

เปิด 4 ขั้นตอนใหญ่คลายล็อกมาตรการ

จากการศึกษาข้างต้น วิจัยกรุงศรีแบ่งการคลายความเข้มงวดของมาตรการควบคุมการระบาดออกเป็น 4 ขั้นตอนใหญ่ ๆ ดังนี้

ช่วงที่ 1 (กันยายนถึงกลางตุลาคม 2564)

มาตรการที่คลายความเข้มงวดแล้วหรือสามารถคลายความเข้มงวดได้ในช่วงนี้ : ลดความเข้มงวดของมาตรการปิดโรงเรียน มาตรการห้ามการรวมกลุ่ม และมาตรการปิดขนส่งสาธารณะ

เงื่อนไขที่เหมาะสม :

  • จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดลงจากระดับสูงสุด
  • มีประชากรมากกว่า 40% ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม

ตัวอย่าง

  • การเปิดให้ลูกค้านั่งรับประทานที่ร้านได้
  • การเปิดกิจการบางอย่างที่มีผู้ใช้บริการต่อครั้งน้อย เช่น ร้านตัดผม ร้านนวด เป็นต้น
  • การเปิดเรียนบางระดับชั้น
  • การเปิดการขนส่งสาธารณะบางประเภท เช่น รถไฟ รถทัวร์ เป็นต้น

ช่วงที่ 2 (กลางตุลาคมถึงกลางพฤศจิกายน 2564)

มาตรการที่ควรคลายความเข้มงวดในช่วงนี้: มาตรการห้ามการรวมกลุ่ม มาตรการปิดสถานที่ทำงานและข้อกำหนดให้อยู่กับบ้าน

เงื่อนไขที่เหมาะสม :

  • จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันต่ำกว่า 10,000 คน และจำนวนผู้เสียชีวิตต่ำกว่า 150 คน
  • จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดต่ำลงต่อเนื่องแม้คลายล็อกดาวน์ไปแล้วในช่วงที่ 1 โดยอัตราการแพร่เชื้อที่เกิดขึ้นจริงต่ำกว่า 0.8

สถานที่ทำงานเตรียมความพร้อมสำหรับการให้พนักงานเข้าทำงาน ได้แก่
– การเตรียมสถานที่ทำงานให้เหมาะสม เช่น มีระบบระบายอากาศ มีการเว้นระยะ
– มีสัดส่วนการฉีดวัคซีนเกิน 80% สำหรับพนักงานที่จะเข้าไปทำงาน
– การจัดการระบบการตรวจโควิด-19 อย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งระบบเตือนและจัดการหากมีผู้ติดเชื้อ

ตัวอย่าง

  • เปิดให้สามารถมีการรวมกลุ่มได้ไม่เกิน 100 คน (จาก 50 คน) ซึ่งจะทำให้สามารถเปิดกิจการบางอย่างได้มากขึ้น เช่น ให้คนสามารถเข้าร้านอาหาร สนามกีฬาที่เปิดโล่ง สวนธารณะได้มากขึ้น
  • เปิดให้สถานที่ทำงานสามารถเปิดได้ แม้ว่ายังคงคำแนะนำทำงานที่บ้าน (Work-from-home) ต่อไป
    การยกเลิกข้อกำหนดให้อยู่กับบ้าน แต่ยังคงคำแนะนำลดการเดินทางไปยังพื้นที่ที่แออัดหรือสถานที่ปิด

ช่วงที่ 3 (กลางพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2564)

มาตรการที่ควรคลายความเข้มงวดในช่วงนี้: มาตรการปิดโรงเรียน มาตรการยกเลิกการจัดกิจกรรมสาธารณะ มาตรการห้ามการรวมกลุ่ม มาตรการจำกัดการเดินทางในประเทศ และมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ

เงื่อนไขที่เหมาะสม :

  • มีประชากรทั้งหมด 65% ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส และ 35% ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ประชากรกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนครบโดสมากกว่า 80%
  • จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดต่ำลงต่อเนื่องแม้คลายล็อกดาวน์ไปแล้วในช่วงที่ 2 โดยอัตราการแพร่เชื้อที่เกิดขึ้นจริงเฉลี่ยยังคงต่ำกว่า 0.8
  • ไม่มีการระบาดอย่างรุนแรงหรือเกิดคลัสเตอร์การระบาดขนาดใหญ่ในกิจการหรือพื้นที่ที่คลายล็อกดาวน์ในสองขั้นตอนแรก

ตัวอย่าง

  • อนุญาตให้เปิดสถานศึกษาได้ แต่ยังคงคำแนะนำเรียนที่บ้านต่อไป
  • อนุญาตให้จัดกิจกรรมสาธารณะได้ภายใต้ข้อจำกัด โดยเฉพาะกิจกรรมในสถานที่ปิด เช่น โรงหนัง การจัดคอนเสิร์ต เป็นต้น
  • เปิดให้สามารถมีการรวมกลุ่มได้โดยไม่จำกัดจำนวน (จาก 100 คน) ซึ่งจะทำให้สามารถเปิดกิจการบางอย่างได้มากขึ้น
  • ยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด
  • ยกเลิกการห้ามนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีความเสี่ยงเดินทางเข้าประเทศ แต่ยังคงมาตรการ Quarantine อย่างเข้มงวด

ช่วงที่ 4 (มกราคม 2565 เป็นต้นไป)

มาตรการที่ควรคลายความเข้มงวดในช่วงนี้: มาตรการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด มาตรการการฉีดวัคซีน การบังคับใส่หน้ากาก

เงื่อนไขที่เหมาะสม :

  • มีประชากรทั้งหมด 70% ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส และ 50% ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ประชากรกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนครบโดสมากกว่า 85%
  • จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดต่ำลงต่อเนื่องแม้คลายล็อกดาวน์ไปแล้วในช่วงที่ 3 โดยอัตราการแพร่เชื้อที่เกิดขึ้นจริงเฉลี่ยยังคงต่ำกว่า 1 ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตต่ำกว่า 50 คน
  • ไม่มีการระบาดอย่างรุนแรงหรือเกิดกลุ่มการระบาดขนาดใหญ่ในกิจการหรือพื้นที่ที่คลายล็อกดาวน์ในสามขั้นตอนแรก

ตัวอย่าง

  • กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่กลับมาเปิดได้ตามปกติ แต่ยังคงข้อกำหนดและคำแนะนำบางอย่าง เช่น ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมควรฉีดวัคซีนเกิน 80% ปฏิบัติตามคำแนะนำด้าน Social distancing เป็นต้น
  • การเดินทางระหว่างประเทศยังคงจำกัด และยังคงใช้มาตรการ Quarantine ต่อไป
  • มาตรการดูแลสุขภาพ เช่น การใส่หน้ากากอนามัย การตรวจโควิด-19 และการให้ข่าวสาร เป็นต้น ยังต้องดำเนินต่อไป โดยเฉพาะสำหรับสถานที่ปิดและมีคนแออัด เนื่องจากยังคงเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะทำให้เกิดการระบาดได้อีก